Suki Media

ยูทูบ หรือ ยูทิวบ์

Posted on: วันอังคาร, 10 เมษายน, 2007

     เพราะข่าวเกี่ยวกับเว็บ youtube โดนบล็อค และเพราะผมเขียนในบทความที่แล้วว่า youtube อ่านออกเสียงเป็น ยูทิวบ์ ไม่ใช่ ยูทูบ ยูทูป ยูทู้บ หรือยูทูเบะ หรืออะไรก็แล้วแต่ เลยเป็นประเด็นขึ้นมาว่าตกลงคำนี้ออกเสียงว่าอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีครับที่เกิดเป็นประเด็นให้ได้พูดคุยถกกันในเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป

     ก่อนอื่น ต้องขอออกตัวว่าผมไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ไม่ได้จบอักษรศาสตร์ ไม่ได้เป็นครูภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ลูกครึ่ง ไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่ราชบัณฑิต ไม่ใช่บุคคลใดๆ ที่อยู่ในแวดวงภาษาเลย ผมเพียงแต่เคยร่ำเรียนและทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเกือบ 4 ปีเท่านั้นเอง

     เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมจะอธิบายต่อจากนี้ จึงมาจากประสบการณ์ส่วนตัว บวกกับการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยปัญญาที่มีอยู่อย่างจำกัด หากใครเห็นด้วยหรือไม่ประการใด ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะสโลแกนของ blog ผมก็เขียนไว้ทนโท่แล้วว่า “โปรดใช้วิจารณญาณขณะอ่าน และจินตนาการขณะชม”

     ถ้าจะให้ดีก็ควรปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบท “กาลามสูตร” ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง นั่นคือพระองค์สอนมิให้เชื่อใน 10 ประการ ไว้จะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังครับ

     เอาเป็นว่าเข้าเรื่องดีกว่า

     ปกติภาษาในแต่ละภาษามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันเอง โดยมีส่วนประกอบมากมาย หลักๆ ก็คือ พยัญชนะและสระ แต่บางภาษาก็มีส่วนเพิ่มเข้ามา เช่น วรรณยุกต์ หรือเครื่องหมายแสดงการออกเสียงพิเศษ

     สำหรับภาษาอังกฤษนั้น แตกต่างจากภาษาไทยตรงที่ไม่มีวรรณยุกต์เป็นตัวกำหนดเสียงสูงต่ำ แต่จะใช้ “การเน้นเสียง” หรือ stressing และ “การไล่เสียงในรูปประโยค” หรือ intonation มากำหนดเสียงสูงต่ำของคำแต่ละคำ

     ดังนั้น คำคำหนึ่งอาจออกเสียงได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับรูปประโยค สถานการณ์ ความหมาย และอารมณ์ของผู้พูด เช่น

     I am a boy. จะออกเสียงว่า “ไอ๊ แอ่ม อะ บ่อย” เมื่อผู้พูดต้องการเน้นย้ำว่า ผม ‘เนี่ยแหละ’ เป็นเด็กผู้ชาย (กรณีที่ยืนอยู่หลายคนจนดูกลืนกันไปหมด และคุณต้องการแสดงตัวว่าคุณเป็นผู้ชาย)

     I am a boy. จะออกเสียงว่า “ไอ่ แอ๊ม อะ บ่อย” เมื่อต้องการเน้นว่า ผม ‘เป็น’ เด็กผู้ชายนะ (กรณีที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อใจว่าคุณจะเข้มแข็ง แข็งแรง หรือมีคุณสมบัติแบบลูกผู้ชายเพียงพอ)

     I am a boy. จะออกเสียงว่า “ไอ่ แอ่ม อะ บ๊อย” เมื่อต้องการเน้นว่า ผมเป็น ‘เด็กผู้ชาย’ (กรณีที่คนทั่วไปชักไม่แน่ใจว่าคุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่)

     นี่ก็คือลักษณะการไล่เสียงในรูปประโยค ที่เรียกว่า intonation นั่นเอง ซึ่งคนที่ไม่คุ้นชินก็อาจสับสนได้ว่าทำไมประโยคเดียวกัน คนพูดแต่ละคนกลับพูดไม่เหมือนกัน

     ส่วน stressing ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ลดขนาดมาอยู่ที่การเน้นเสียงในแต่ละคำ เช่น

     perfect คนไทยมักออกเสียงว่า “เปอร์เฟ็คท์” ซึ่งอเมริกันออกเสียงว่า “เพ้อร์เฝ็คท์”

     experience ต้องเน้นพยางค์ที่สอง ออกเสียงว่า “เอ่กซ์พี้เหรี่ยนส์” ไม่ใช่ “เอ๊กซ์พีเหรียน” หรือ “เอ๊กซ์พีเรี้ยนส์”

     impact ต้องเน้นพยางค์แรก ออกเสียงว่า “อิ๊มแผ็คท์” ไม่ใช่ “อิมแผ็คท์”

     complete ต้องเน้นพยางค์หลัง ออกเสียงว่า “ข่อมพลี้ท” ไม่ใช่ “คอมพลี้ท”

     passport อ่านว่า “แพ้สปอร์ต” ไม่ใช่ “พ้าดสะปอด”

     เห็นไหมครับว่า คำหรือประโยคในภาษาอังกฤษ สามารถออกเสียงสูงต่ำได้หลายแบบโดยไม่มีวรรณยุกต์กำหนด และคำบางคำเน้นเสียงพยางค์หน้า บางคำเน้นเสียงพยางค์หลัง

     “แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคำไหนออกเสียงอย่างไร” บางคนอาจสงสัยเหมือนผมเมื่อก่อน

     หลักการก็พอมีอยู่บ้างครับ เช่น ถ้าเป็นคำสามพยางค์ ก็เน้นพยางค์กลาง โดยออกเสียงตรี ส่วนพยางค์อื่นก็ปัดเป็นเสียงเอก แต่ถ้าเป็นคำสองพยางค์ ก็ขึ้นอยู่กับว่าพยางค์หลังเป็นตัวสะกดเสียงเบาหรือเสียงหนัก ถ้าเบาก็เน้นพยางค์หลัง เช่น compare ถ้าหนักก็เน้นพยางค์หน้า เช่น complete เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหลักการคร่าวๆ เท่านั้น ศัพท์บางคำก็ไม่ได้ออกเสียงตามหลักดังกล่าว มักมีข้อยกเว้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น วิธีการเดียวที่จะเรียนรู้การออกเสียงได้ดีที่สุดก็คือ “การฟัง”

     ผมก็อาศัยการฟังนี่แหละครับ ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่ามีอยู่หลายสำเนียงเหลือเกิน เช่น สำเนียงอเมริกัน (American English) สำเนียงอังกฤษ (British English) สำเนียงสิงคโปร์ (Singlish) หรือสำเนียงอินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ

     และแม้ในประเทศเดียวกันเอง ก็ยังมีสำเนียงแตกต่างกันไป เช่น อังกฤษเองมีสำเนียงทางใต้แถบลอนดอน หรือสำเนียงทางเหนือแถบนิวคาสเซิล ส่วนอเมริกาก็มีสำเนียงแถบตะวันตกแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย สำเนียงตะวันออกแถบนิวยอร์ก สำเนียงทางใต้แถบเท็กซัส หรือสำเนียงตอนกลางแถบอิลลินอยส์

     แม้กระทั่งประเทศไทยเอง ก็ยังออกเสียงคำคำเดียวกัน ไม่เหมือนกัน เพราะมีสำเนียงอีสาน สำเนียงเหนือ สำเนียงใต้ สำเนียงภาคกลาง สำเนียงตะวันออก สำเนียงตะวันตก สำเนียงสุพรรณ ฯลฯ

     เราเรียกสำเนียงต่างๆ เหล่านี้ว่า accent

     ตัวการที่กำหนด accent ในแต่ละภาษาก็มาจาก 2 กรณี คือ ภูมิศาสตร์ และอารมณ์

     ภูมิศาสตร์ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนอารมณ์ก็อย่างเช่น ประโยคที่ว่า “ไปกินข้าวกันไหม” คงไม่มีคนไทยคนไหนอุตริอ่านเสียตรงวรรณยุกต์เช่นนี้ ร้อยทั้งร้อยผมเคยได้ยินแต่ว่า “ไปกินข้าวกันมั้ย” หรือ “ไปกินข้าวกันม้า” หรือ “ไปกินข้าวกันมะ” หรือ “ไปกินข้าวกันแมะ”

     ภาษาอื่นก็เช่นเดียวกัน ไม่มีมนุษย์ชาติไหนที่ออกเสียงตามคำ ประโยค หรือวรรณยุกต์เป๊ะๆ แต่จะออกเสียงสำเนียงตามภูมิศาสตร์และอารมณ์อย่างที่บอกไว้นั่นเอง

     เพราะฉะนั้น แม้ dictionary หรือเครื่องอ่านออกเสียง จะกำหนดไว้ว่าคำคำนี้ ออกเสียงอย่างนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า เวลาเรานำคำนั้นไปใช้ในชีวิตจริง จะต้องออกเสียงตรงตามนั้นเป๊ะ

     จากประสบการณ์ของผมเอง ฟังคนอเมริกันออกเสียง tube

     เหมือน duce ในคำว่า produce

     เหมือน Tues ในคำว่า Tuesday

     เหมือน fuse ในคำว่า confuse

     เหมือน Q อักษรตัวที่ 17 ในภาษาอังกฤษ

     และแม้ phonetic หรือ “การออกเสียงคำ” ใน dictionary จะออกเสียง tube ว่า toob (ทูบ) แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินอเมริกันชนคนไหนออกเสียง “ยูทูบ” แบบเต็มๆ สองรูหูเลย

     “tube” ของอเมริกัน ที่เขียนเป็นภาษาไทยว่า “ทูบ” ไม่ได้ออกเสียงเหมือนกับ “ธูป” ในคำว่าธูปหอมแน่ๆ

     แต่จะได้ยินเสียงก้ำกึ่งระหว่าง “ยูทูบ” และ “ยูทิวบ์” ซึ่งสาเหตุของการออกเสียงไม่ตรงตาม phonetic ใน dictionary เป๊ะๆ ก็เนื่องจากในชีวิตจริงไม่มีใครออกเสียงตามภาษาเขียนอย่างที่บอกไปแล้ว

     อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจาก “ช่องว่างระหว่างภาษา” ซึ่งในแต่ละภาษาไม่อาจนำพยัญชนะที่มีอยู่มาเทียบเคียงได้ตรง 100% อาจมีการผิดเพี้ยนไปได้บ้าง เช่น คำว่า “God” จะออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง “ก็อด” และ “ง็อด” เนื่องจากเสียงตัว G เป็นเสียงควบระหว่าง “ก” และ “ง” ซึ่งในภาษาไทยไม่มีพยัญชนะที่ตรงตามเสียง G เป๊ะ จึงต้องเลือกเอาว่าจะใช้ตัวไหนมาเขียนแทน ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยก็มักจะเขียนพยัญชนะเลี่ยงมาทาง “ก” มากกว่า

     อีกตัวอย่างหนึ่ง

     V ต้องออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง “วี” และ “ฟี” โดยวิธีการออกเสียงที่แท้จริง ต้องใช้ฟันหน้าแตะริมฝีปากล่าง และพ่นลมออกมาพร้อมกับออกเสียงว่า วี ก็จะได้เสียง V ที่แท้จริง แต่คนไทยก็ใช้ “ว” มาแทนตัว V เสียมากกว่า

     ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเอง จึงเลือกใช้ “ยูทิวบ์” มากกว่า “ยูทูบ” มาแทนเสียงของ youtube แม้เสียงที่แท้จริงจะก้ำกึ่งระหว่างสองคำนี้ก็ตาม

     นี่แหละครับ ที่ผมบอกว่าภาษาแต่ละภาษาล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนกันได้เต็ม 100% และไม่สามารถอ้างได้ว่าคำคำนั้นต้องออกเสียงตาม dictionary เป๊ะๆ หรือคำคำนั้นในอเมริกา ทำไมไม่ออกเสียงเหมือนในอังกฤษ ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด

     เพราะฉะนั้น การฟังเสียงพิธีกรในทีวีพูดคำว่า youtube แล้วฟังได้เป็น “ยูทูบ” หรือ “ยูทิวบ์” ก็มาจากหลายเหตุผลข้างต้น ประกอบกับการออกเสียงภาษาอังกฤษในรูปประโยคไทย หรืออย่างที่บางคนนิยมพูดไทยคำอังกฤษคำ ก็ทำให้เกิดความลักลั่นในการออกเสียงได้

     เนื่องจากภาษาไทยมีวรรณยุกต์กำหนดเสียง แต่ภาษาอังกฤษมี stressing และ intonation กำหนดเสียง เมื่อนำสองภาษามาพูดรวมกัน จึงต้องเลือกแล้วละครับว่าจะออกเสียงตามหลักภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษกันแน่

     หากออกเสียงภาษาอังกฤษแบบมี accent ฝรั่ง คนก็จะหาว่าดัดจริต แต่ถ้าออกเสียงคำอังกฤษแบบไทยๆ คนก็หาว่าสำเนียงห่วย จบนอกซะเปล่า

     ทีนี้ก็อยู่ที่คนพูดแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกใช้เสียง สำเนียง คำ ประโยค หรือความดัดจริตแค่ไหน ที่สื่อสารให้คนฟังรู้เรื่องมากที่สุด และผิดไปจากภาษาดั้งเดิมให้น้อยที่สุดเท่านั้นเอง

17 Responses to "ยูทูบ หรือ ยูทิวบ์"

ความจริงจาก phonetic ก็น่าจะอ่านได้ทั้งสองแบบนะครับสำหรับคำว่า tube แต่ผมก็อ่านว่า ทิวบ์ ตลอด -_-” แบบ cube … ส่วนคำว่า lube คงอ่านออกเสียงได้แบบเดียว

เห็นเค้าเขียน 2 อย่างนี่คับ tju:b | tu:b ทิวบ์ | ทู้บ

tju:b = อันนี้น่าจะอ่านว่า ทิวบ์ (มี j ที่ออกเสียง ย) เพราะคำว่า hue (hju:), mute(mju:) ยังอ่านสระอิ๊ว กันหมดเลย

กระจ่างซะที เรียกถูกเรียกผิดอยู่นาน

ผมอ่าน ยู ทยูบ
จะอ่านอย่างไรช่างมันเถอะ สื่อสารเข้าใจกันก็ใช้ได้แล้ว

อะ “…อยู่ในสหรัฐอเมริกามาเกือบ 4 ปีเท่านั้นเอง…” อย่าบอกนะครับ ว่าอยู่อเมริกามา 4 ปี แล้วไม่เคยได้ยินคำว่า tube ที่อ่านว่า ทูบ

คำว่า tube ที่แปลว่า ท่อ คนอเมริกันก็อ่าน ทูบ กันหมด แต่ขณะเดียวกันคนอังกฤษจะอ่านว่าทิวบ์ เหมือนคนอินเดียกับคนไทย

ไม่รู้สิครับ เพื่อนอเมริกันที่ผมรู้จักทั้งหลาย อ่านก้ำกึ่งระหว่าง ยูทูบ และ ยูทิวบ์ ทั้งนั้น อย่างที่ผมเขียนในบทความนั่นแหละครับ ถ้าคุณ L อ่านบทความอย่างแตกฉาน ก็จะพบว่าผมไม่ได้บอกว่า youtube อ่านว่า ยูทูบ หรือยูทิวบ์ แต่มันออกเสียงก้ำกึ่งระหว่างสองคำนั้นครับ

เปล่านะครับ ผมแค่มาขำว่า อยู่อเมริกามา 4 ปี(กว่าแล้วมั้ง) ทำไมยังฟังเป็นเสียงก้ำกึ่งอยู่ดี งั้นก็ยังคงฟังคำว่า Mountain Dew, institute, student ก้ำกึ่งด้วยหรือเปล่าครับ

คร้าบบบบบบ คุณ L เก่งจังเลยคร้าบบบบบบ

ต้องอ่านว่ายูทูบสิ ไม่เชื่อลอง สะกด คำว่า youtube เป็นภาษาไทยเร็วๆสัก 20 ครั้ง ก็จะกร่อนไปกร่อนมา กลายเป็น ยูทูบ อีกอย่าง พิมพ์ง่ายกว่า “ยูทิวบ์” ด้วย

คนชื่อ L สงสัยจะปัญญาอ่อน
คุณ baramee ปล่อยให้เค้าอยู่ในโลกของเค้าไปเถอะค่ะ

ยูทูบคือคำตอบสุดท้ายครับ ลองอ่าน http://itshee.exteen.com/20071108/youtube-1

“ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเอง จึงเลือกใช้ “ยูทิวบ์” มากกว่า “ยูทูบ” มาแทนเสียงของ youtube แม้เสียงที่แท้จริงจะก้ำกึ่งระหว่างสองคำนี้ก็ตาม”

“ทีนี้ก็อยู่ที่คนพูดแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกใช้เสียง สำเนียง คำ ประโยค หรือความดัดจริตแค่ไหน ที่สื่อสารให้คนฟังรู้เรื่องมากที่สุด และผิดไปจากภาษาดั้งเดิมให้น้อยที่สุดเท่านั้นเอง”

ครับ ช่วยอ่านให้กระจ่างก่อนนะครับ ผมไม่ได้บอกว่ามันออกเสียงว่า ยูทิวบ์ แต่ผมเลือกที่จะอ่าน ยูทิวบ์ เท่านั้นเอง

เคยได้สนทนากับฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง บนถนนข้าวสาร ระหว่างที่เรากินเบียร์ไปนั้น ก็พูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง คือวง Limpbizkit ซึ่งเค้าชอบวงนี้มาก แต่ผมไม่รู้จักเลย อธิบายยังไงผมก็ไม่รู้ เค้าจึงพาผมไปหยอดเหรียญเล่นเน็ต แล้วก็ถามผมว่า คุณรู้จักยูทู๊บไหม ผมก็ถามว่า อะไรคือยูทู๊บ สักครู่หน้าเว็บก็ปรากฏมา Youtube แล้วผมก็เลยได้รู้จักกับวง Limpbizkit เพราะ เว็บยูทู๊บ
ไม่ใช่เพราะเว็บยูทิวบ์ครับ

บล็อกคุณก็ควรจะแก้เลยนะครับ ประโยคแรกควรสรุปให้เลยว่า สาเหตุที่เลือกที่จะอ่าน Youtube ว่ายูทิวบ์ เพราะว่าส่วนตัวแล้วเลือกที่จะอ่านดังกล่าวเอง คุณควรบอกคนอ่านให้เข้าใจด้วยว่า วิธีการอ่านจริงๆแล้ว อ่านว่า “ยูทูบ” อย่างเป็นทางการ

ไม่อยากให้คนเข้ามาอ่านโพสคุณเข้าไปไปทางที่ผิดครับ ว่าคำดังกล่าวควรจะอ่านว่า “ยูทิวบ์” อย่างน้อยคุณควรให้คนอ่านได้รับรู้ว่าคำอ่านที่เป็นจริงคืออย่างไร ไม่ใช่ยัดเหยียดสาเหตุที่ควรอ่านตามคุณเอง

แบบฉบับการเขียนบล็อกของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ คุณ IcedTea มีเหตุจำเป็นขนาดไหนหรือ ที่มาเจ้ากี้เจ้าการให้เจ้าของบล็อกเขียนแบบใดแบบหนึ่ง ในเมื่อลักษณะและรูปแบบการอธิบายความก็ไล่เลียงถึงสาเหตุ กระบวนการ เหตุผล และมาถึงข้อสรุปในตอนท้าย

หากคุณ IcedTea ไม่สามารถที่จะยอมรับในกระบวนการเขียนนี้ได้ หรือสมองตื้นเกินไปที่จะเข้าใจ ผมก็แนะนำให้คุณไปเขียนบทความประเภทนี้เองนะครับ เผื่อว่าจะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่เขียนบทความมา ผมก็ไม่เห็นจะมีคนอ่่านคนไหนมาบอกว่าควรเขียนสาเหตุขึ้นต้นประโยคแรกเลย หรือเขียนแบบนู้นสิ แบบนี้สิ ถ้าคุณ IcedTea อยากเขียนแบบไหน ก็คงไม่มีใครห้ามได้ แต่มาสาระแนในบล็อกคนอื่น ผมว่ามันไม่เข้าท่าเอาเลยครับ

การที่ผมเลือกที่จะอ่านแบบไหน จะ “ยูทิวบ์” หรือ “ยูทูบ” ผู้อ่านบล็อกก็มีความคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ว่าจะเลือกอ่านแบบใด ทุกคนมีสิทธิ์เลือก และผมไม่เคยบังคับให้ใครเลือกอ่านเหมือนผม การที่คุณ IcedTea บอกว่าผม “ยัดเยียด” ให้คนอ่านตามนั้น ช่วยชี้มาให้ชัดๆ สิครับว่าผม “ยัดเยียด” ตรงประโยคไหนเหรอครับ อย่ามาอ้างลอยๆ ไปเรื่อยเปื่อย เพราะมันทำให้คุณดูไม่ต่างจากเด็กอมมือที่พาลชาวบ้านไปทั่ว

ผมเขียนอยู่ชัดเจนครับในประโยคสุดท้ายว่า “ทีนี้ก็อยู่ที่คนพูดแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกใช้เสียง สำเนียง คำ ประโยค หรือความดัดจริตแค่ไหน ที่สื่อสารให้คนฟังรู้เรื่องมากที่สุด และผิดไปจากภาษาดั้งเดิมให้น้อยที่สุดเท่านั้นเอง” ถ้าคุณ IcedTea ฉลาดพอก็จะเข้าใจถึงประโยคนี้ได้ แต่ผมคิดว่าคุณคงไม่ฉลาดพอ มิฉะนั้นคงไม่มาเขียนซ้ำในประเด็นเดิมๆ และแถมยังบอกให้ผมเอาสรุปไปไว้ประโยคแรกอีก

ขอเถอะครับ ถ้าอ่านไม่รู้เรื่อง กรุณาอย่าอ่านเลย มันแสดงถึงระดับสติปัญญาอันบ้องตื้นของคุณเอามากๆ ครับ

ครั้งแรกที่เราเห็นคำคำนี้ตามหน้าเว็บ เราอ่านว่า ยูทิวบ์
ต่อมาเราอ่อนไหวตามกระแสสังคม เริ่มไขว้เขวหา ยูทูบ เพราะไม่อยากเป็นคนประหลาด
วันนี้เราได้คำตอบแล้วหล่ะ และจะออกเสียงอย่างมั่นใจด้วย ฮะฮ่า

ใส่ความเห็น

Blog Visits

  • 158,844 hits