Suki Media

ผู้สร้างโลกเสรี Wikipedia

Posted on: วันพฤหัสบดี, 22 พฤศจิกายน, 2007

 Jimmy Wales

สมัยนี้หากใครที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยๆ แต่บอกว่าไม่รู้จักเว็บไซต์สารานุกรมเสรีที่ชื่อ วิกิพีเดีย (Wikipedia) ก็คงต้องเอาหน้ามุดแผ่นดินกันเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าความรู้ประเภทไหนก็สามารถหาได้ในวิกิพีเดีย และถ้าลองค้นหาข้อมูลอะไรก็ตามในกูเกิล บทความของวิกิพีเดียก็มักจะติดอันดับต้นๆ เสมอ

หลายคนอาจถามว่าที่นี่มีดีอะไร แล้วข้อมูลต่างๆ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยระบบของวิกิพีเดียที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าไปเขียน แก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติม บทความขอตัวเองและผู้อื่นได้ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่า ใครๆ ก็เขียนสารานุกรมได้ แล้วอย่างนี้ข้อมูลจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร รวมถึงอาจมีการกลั่นแกล้งต่างๆ เช่น การแก้บทความกันไปมา การใส่ข้อมูลเท็จ การเซ็นเซอร์บทความ เป็นต้น

เป็นโอกาสที่ดีที่ จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ได้เดินทางมาปาฐกถาในงาน ICT Expo 2007 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้นที่อาจจะค้างคาใจใครหลายคนมานาน ได้รับการเปิดเผยเสียที

ไม่มีหรอกครับเรื่องเซ็นเซอร์ที่วิกิพีเดีย จะมีก็แต่การประเมินของกองบรรณาธิการ ซึ่งเรามีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้คนได้ถกเถียงกันว่า บทความต่างๆ ที่คนเขียนมานั้นสมควรได้รับการเผยแพร่หรือไม่ เพราะบทความที่ดีจริงๆ ในวิกิพีเดียประกอบด้วย 2 ปัจจัยคือ หนึ่งเขียนได้ดี และสองมีแหล่งที่มาอ้างอิงได้ บางคนเขียนมาโดยไม่มีแหล่งอ้างอิง กองบรรณาธิการก็ต้องลบทิ้ง ซึ่งบางคนอาจเรียกว่านั่นคือการเซ็นเซอร์ แต่ผมเรียกว่าเป็นการประเมินของกองบรรณาธิการ

ที่ผ่านมาเราพยายามให้มีบทความดีๆ อย่างที่บอก แต่แน่นอนว่าก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมด บ่อยครั้งจึงมีคนพูดว่า เรื่องนี้จริงหรือเปล่า น่าเชื่อถือหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนที่ใช้วิกิพีเดียเองมากกว่า คือจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเรื่องไหนน่าเชื่อถือและเรื่องไหนควรได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุง

ส่วนการแก้บทความกันไปมาระหว่างผู้เขียน 2 คน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่เราก็มีกฎเกณฑ์ที่ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามแก้บทความกลับไปเป็นเหมือนเดิมถึง 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าคุณละเมิดกฎนี้ก็จะถูกแบนจากวิกิพีเดียเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

แม้จิมมีจะยืนยันว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ในวิกิพีเดียอย่างแน่นอน แต่บนโลกออนไลน์ก็ยังมีเว็บไซต์ที่ออกมาโจมตีวิกิพีเดียว่า ข้อมูลต่างๆ และบทความในวิกิพีเดียไม่มีความน่าเชื่อถือ ลำเอียง หรือแม้กระทั่งไม่เป็นความจริงด้วยซ้ำ

เวลาเว็บไซต์ไหนดัง ก็มักจะมีเรื่อง (การโจมตี) ทำนองนี้อยู่เสมอ แต่ก็อย่างที่บอกครับ ถ้าบทความใดมีคุณภาพ ก็จะมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะโจมตีหรือวิจารณ์อะไรก็ไม่ว่ากัน เพราะผมก็บอกได้ว่า นี่ไงล่ะ…ข้อมูลอ้างอิง ซึ่งผู้อ่านก็แค่เลื่อนหน้าเว็บลงไปด้านล่าง แล้วคลิกที่ข้อมูลอ้างอิงเพื่อเช็คกลับไปที่ต้นตอว่าข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาจากที่ไหน อาจจะมาจากในอินเทอร์เน็ตหรือในหนังสือก็ได้ แต่คุณก็สามารถเช็คได้ด้วยตัวคุณเอง

และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าใครก็ตามสามารถเขียนบทความในวิกิพีเดียได้ ไม่ว่าจะจบ ป.4 หรือปริญญาเอก เพียงแต่ผู้เขียนต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ไม่ใช่เขียนขึ้นมาลอยๆ แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ทำให้บางคนวิพากษ์วิจารณ์จิมมีว่าเขาเป็นพวกต่อต้านหัวกะทิ หรือ Anti-Elitist

บางคนเรียกผมหรือวิกิพีเดียว่าอย่างนั้น แต่เราไม่ใช่พวกต่อต้านหัวกะทิหรอกครับ เพราะเราถือว่าเราเป็นพวกหัวกะทิเองนั่นแหละ แต่เป็นหัวกะทิในแบบของเราเอง ถ้าจะเป็นพวกต่อต้านอะไรบางอย่าง ผมก็อาจจะเป็นพวกต่อต้านคนจบปริญญามากกว่า อย่างเช่นถ้าคุณจะมาเอาชนะการถกเถียงหรือข้อโต้แย้งใดๆ ด้วยการบอกว่าคุณจบปริญญาเอกนะ ผมว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ ถูกต้อง คุณอาจจะรู้ในบางเรื่อง แต่ยังไงช่วยอ้างอิงที่มาของสิ่งที่คุณรู้ด้วยนะ (หัวเราะ)

วิกิพีเดียเป็นสังคมเปิดครับ ทุกคนสามารถแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน แม้จะมาจากต่างสัญชาติ ต่างวัฒนธรรมกันก็ตาม คนส่วนใหญ่ในนั้นก็มักจะชื่นชมและนับถือคนที่รู้จริงในสิ่งที่เขียน แต่ถ้าใครไม่รู้จริง ผมกล้าพูดได้เลยว่า เขาคนนั้นก็ไม่ควรที่จะมาเขียนสารานุกรม

การเป็นคนตรงไปตรงมาของจิมมี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่พอใจหรือหมั่นไส้ในตัวเขา แม้กระทั่งการสร้างวิกิพีเดียภายใต้การดำเนินงานแบบมูลนิธิ ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่ใครหลายคนพอสมควร เพราะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกขณะนี้ที่มีอยู่ประมาณพันล้านคน สามารถสร้างรายได้ให้วิกิพีเดียได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

ในช่วงที่ผมเริ่มก่อตั้งเว็บไซต์นี้ เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตของธุรกิจดอทคอม เวลานั้นตลาดหุ้น NASDAQ ร่วงลงอย่างมาก ไม่มีใครอยากลงทุนในธุรกิจประเภทนี้อีก แต่ผมก็ลงทุนด้วยเงินตัวเองทั้งหมด โดยคิดแต่เพียงว่าจะทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะทำเป็นธุรกิจเลย

ใครจะรู้ว่าความคิดแรกของการสร้างสารานุกรมเสรีที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ จะเริ่มจากสิ่งที่เป็น hobby ของจิมมีเท่านั้น เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว จิมมีก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงไซเบอร์มาก่อนด้วยซ้ำ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงิน และวนเวียนอยู่ในแวดวงการเงินและตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยในระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นก็เรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการเงินไปด้วย

ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่นั้น เป็นจังหวะที่ Netscape เพิ่งเข้าตลาดหุ้น และไม่นานมันก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ผมแทบช็อคเลยทีเดียว มันบ้าเอามากๆ เหลือเชื่อจริงๆ และนั่นก็จุดประกายให้ผมเริ่มหันมาสนใจโลกแห่งอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ความสนใจด้านอินเทอร์เน็ตของจิมมีนั้น มีมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เขาถึงกับเปลี่ยนใจไม่ส่งวิทยานิพนธ์เอาดื้อๆ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่จบดอกเตอร์ในที่สุด แต่จิมมีบอกว่าเหตุผลที่เขาไม่ส่งวิทยานิพนธ์ก็เพราะเขาแค่เบื่อกับการเรียนปริญญาเอกเท่านั้นเอง

ผมเบื่อมากๆ เลย แล้วที่จริงผมก็ยังสนุกกับงานที่ทำอยู่ในขณะนั้นด้วย ประกอบกับสนใจทำโครงการเว็บไซต์เล็กๆ ที่เกี่ยวกับความรู้เสรีเท่านั้นเอง

จิมมีพูดถึงเว็บไซต์ที่ชื่อนูพีเดีย (Nupedia) ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรีที่ให้ผู้ใช้เข้าไปเขียน ปรับปรุง และแก้ไขบทความกันเอง โดยมีวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์รองรับบทความเบื้องต้น จากนั้นจึงค่อยส่งเรื่องที่สมบูรณ์แล้วไปเผยแพร่ในนูพีเดีย แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน วิกิพีเดียกลับโตเร็วแซงหน้านูพีเดียเสียอีก จิมมีจึงหันมาพัฒนาวิกิพีเดียแทน

ผมพบว่าคนสนใจเข้ามาเขียนบทความกันมากขึ้น โดยไม่แบ่งแยกสัญชาติและวัฒนธรรม ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีมาก และมันจะไม่มีทางเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ถ้าผมทำเป็นธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาเราสามารถตัดสินใจทำโครงการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรสุทธิ แต่ถึงยังไง ผมก็ยอมรับว่าการที่วิกิพีเดียดำเนินงานภายใต้มูลนิธิก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากเรามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ และค่าเซิร์ฟเวอร์ที่เรามีอยู่ถึง 4 แห่ง ซึ่งถ้าเรามีเงินมากกว่านี้ หรือมีรายได้ดีอย่างกูเกิล เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะเลย แต่ถามว่าถึงขึ้นขัดสนหรือไม่ ไม่เลยครับ เราใช้วิธีการรับบริจาค ซึ่งทำบ้างเป็นบางครั้ง และก็มีคนบริจาคให้เราเสมอ

ความโด่งดังของวิกิพีเดีย ข้อมูลความรู้อันมากมาย และการดำเนินงานภายใต้องค์กรการกุศลเช่นนี้ บางคนก็อดคิดดีใจไม่ได้ว่า ถ้าอย่างนั้นในอนาคตเราคงหาความรู้ได้ฟรีๆ ในวิกิพีเดีย โดยไม่ต้องไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเลยละสิ หรือว่า amazon.com คงจะต้องเจ๊งแน่ๆ ใช่ไหม

ไม่หรอกครับ ผมไม่คิดว่าในอนาคตความรู้ทุกอย่างจะเป็นของฟรี สำหรับความรู้ทั่วไปอาจจะฟรี หรือมีราคาถูกมากๆ แต่ถ้าเป็นความรู้เฉพาะทางก็คงไม่ฟรี เทคโนโลยีจะเป็นตัวทำให้ความรู้มีราคาถูกลงหรือกลายเป็นของฟรีเลย อย่างในวิกิพีเดียเป็นต้น แต่ถ้าคุณอยากจะอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงหาไม่ได้ในวิกิพีเดีย ผมคิดว่ายังไงคนก็คงซื้อหนังสืออ่าน แต่หนังสือก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้ามันมีราคาแพงเกินไป คนก็จะก๊อปปี้ไปแจกจ่ายกันในอินเทอร์เน็ตแทน ถึงแม้การอ่านบนหนังสือจริงๆ จะรู้สึกดีกว่าการอ่านบนจอคอมพิวเตอร์หลายเท่าก็ตาม

วิกิพีเดียทำให้อินเทอร์เน็ตในวันนี้กลายเป็นโลกเสรีมากยิ่งขึ้น ความรู้ทุกอย่างถูกเผยแพร่ถึงกันอย่างไร้พรมแดนและไร้ราคา แม้จิมมีจะบอกว่าในอนาคตเรายังต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อแลกความรู้บางอย่างมา แต่เขาอาจลืมนึกถึงพฤติกรรมศาสตร์ของคนใช้อินเทอร์เน็ตไปอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือคนส่วนใหญ่ยังคิดเสมอว่าทุกอย่างบนโลกไซเบอร์นั้น…เป็นของฟรี

 (ติดตามคลิปสัมภาษณ์ Jimmy Wales ได้ที่ SukiFlix)

ป้ายกำกับ: ,

4 Responses to "ผู้สร้างโลกเสรี Wikipedia"

มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เป็นบทความที่ดีมากๆ ครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลสำหรับทำบุญต่างๆ เช่น ทำบุํญตักบาตร วิธีทำบุญให้ไ้ด้บุญเยอะๆ ทำบุญวันเกิดแวะชมเว็บผมได้นะครับ http://www.thaimerits.com มีข้อมูลเกี่ยวกับการทำบุญให้เพียบครับ แนะนำวัดต่างๆ แหล่งธรรมะให้พร้อม แหล่งทำบุญออนไลน์

ใส่ความเห็น

Blog Visits

  • 158,846 hits