Suki Media

Archive for the ‘หนังกางแปลง’ Category

     คุณ Lost in space ได้ส่งเรื่องราวเกี่ยวกับหนังมาให้อ่านกันอีกแล้วครับ อาจดูล่าช้าไปสักนิดที่เพิ่งจะมาโพสต์ให้อ่านกันเวลานี้ แต่สาเหตุมาจากตัวผมเอง ต้องขออภัยคุณ Lost in space ที่พิจารณาเรื่องอย่างเชื่องช้าครับ ครั้งต่อไปจะเร่งให้เร็วขึ้น

     ไม่รอช้าอีกแล้วครับ…เชิญทัศนา

ดูหนังวันพ่อ

by Lost in space

     ในโอกาสที่ธันวาคมนี้ นอกจากจะเป็นเดือนแห่งเทศกาลสุขสันต์ส่งท้ายปีเก่าแล้ว ความสำคัญของเดือนนี้อีกอย่างหนึ่งที่ยิ่งหย่อนไม่แพ้กันสำหรับคนไทยเราคือ เป็นเดือนที่ระลึกถึงความสำคัญของบุพาการีผู้ให้กำเนิดที่เรียกว่า “พ่อ”

     ฉัน พ่อ และหนัง สามสิ่งนี้มีความเกี่ยวพันกับชีวิตของฉันตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่

     พ่อเคยเล่าเสมอๆ ว่า ความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตวัยเด็กของพ่อ ในครอบครัวธรรมดาๆ ตามต่างจังหวัด ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ การได้ไปยืนดูช่างศิลป์วาดภาพโปสเตอร์หนัง หรือป้ายหนังที่ใช้สำหรับติดตั้งหน้าโรงหนัง หรือที่ติดตั้งไปกับรถแห่โฆษณา หรือการได้ไปยืนดูฟิลม์หนังที่หมุนวนบนเครื่องฉายหนัง

     และที่สำคัญคือ การได้ตื่นตาตื่นใจสนุกสนานไปกับการดูหนังเรื่องนั้นๆ บางครั้งพ่อก็ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่าตั๋วหนังเข้าไปดูได้ เพราะฐานะทางบ้านยากจนมาก นานๆ ครั้งก็มีผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นเพื่อนบ้านบางคนอาสาพาพ่อ (ซึ่งขณะนั้นเป็นเด็ก) เข้าไปดูหนังในโรง โดยให้ทำทีเป็นลูกของเขาเพื่อจะได้เข้าไปดูหนังโดยไม่ต้องเสียค่าตั๋ว

     พ่อชอบดูหนังตั้งแต่วัยเด็กจนเป็นวัยรุ่น และเมื่อเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว ทุกครั้งที่ไปดูหนัง พ่อและแม่จะต้องพาฉันและพี่ชายไปดูด้วยกันทั้งครอบครัวเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้วันหยุดสำคัญเช่นปีใหม่หรือตรุษจีน ก่อนจะถึงวันหยุด 1 วัน พ่อจะพาลูกๆ ไปเดินเตร่ดูภาพถ่ายตัวอย่างหนังและกำหนดเวลาฉายหน้าโรงหนัง เพื่อจะได้เตรียมตัวตั้งใจไปดูหนังกัน ซึ่งโรงหนังตามต่างจังหวัดสมัยก่อน หากเป็นช่วงวันเทศกาลวันหยุดสำคัญ จะเปิดโรงฉายหนังกันทั้งวันทั้งคืนเลยทีเดียว

     ความชอบดูหนังของพ่อจึงเป็นอีกหนึ่ง (ในหลาย) นิสัย ที่ถูกส่งผ่านถ่ายทอดมายังตัวฉันอย่างไม่ต้องสงสัยไต่ถาม

     ดังนั้น การดูหนังของฉันในช่วงเทศกาลวันพ่อจึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการแสดงออก เพื่อระลึกนึกถึงความรัก ความปรารถนาดีที่ได้รับจากพ่อมาโดยตลอดอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่อง

     แม้ว่าหนัง 3 เรื่อง 3 รสที่ฉันได้ดูในช่วงใกล้วันพ่อ ไม่ได้มุ่งหมายหรือจงใจจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “พ่อ” เป็นหลักใหญ่ใจความ หากแต่ได้นำเสนอประเด็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่าง “พ่อกับลูก” เป็นประเด็นรองของเรื่องหลักไว้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

     ฉันแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกในหนัง 3 เรื่อง ออกเป็น 3 รูปแบบ

     ไม่ลงรอย… “Wall Street”

     ไม่ใช่สายเลือด… “Always : Sunset On Third Street”

     ไม่ถูกทำนองคลองธรรม… “Saving Face”

Wall Street 

ไม่ลงรอย… “Wall Street”

     เป็นคำตอบที่ถูกเพียงครึ่งเดียว!!! หากคุณถูกถามก่อนได้ดูว่า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร

     แล้วคำตอบคือ คุณคิดว่าหนังเรื่องนี้ – ที่ออกฉายในปี 1987 หรือเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่กำกับโดยเจ้าพ่อหนังสงคราม (โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม) ชื่อก้องแห่งโลกฮอลีวู้ด ผู้มีนามว่า Oliver Stone – คงจะเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับ เงิน เงิน และเงิน ดำเนินเรื่องด้วยลีลาอันตื่นเต้นเร้าใจของการหักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงไหวชิงพริบกันด้วยยุทธวิธี กลเกมส์ทางธุรกิจ

     ระหว่าง Gordon Gekko นักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทรายใหญ่ ที่ทุกการลงทุน “ไม่มีคำว่าเสี่ยง” สำหรับเขา และผลลัพธ์ที่ได้คือ “กำไรเท่านั้น” เขาพร้อมจะโยกย้ายถ่ายโอนเงินลงทุนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งทันที หากคิดวิเคราะห์แล้วว่าเขาไม่ได้เป็น “ผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียวในเกมส์นั้นๆ” (ดูแล้วก็อดนึกถึงอดีตผู้นำบ้านเราบางคนไม่ได้ หึหึ)

     กับ Bud Fox โบรกเกอร์ หรือนายหน้าค้าหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่งในวอลล์สตรีท ผู้ใฝ่ฝันและทะเยอทะยานไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ชีวิตที่เพียบพร้อมไปด้วยสูทราคาแพงระยับ รับประทานแต่อาหารในภัตตาคารชั้นหรู ห้องชุดชั้นดีในย่านคนรวย รายล้อมไปด้วยหญิงสาวสวยเซ็กซี่ไม่ซ้ำหน้า

     การถูกครอบงำด้วยแนวคิดทุนนิยมสุดโต่ง ความทะยานอยากเช่นนี้ของ Bud Fox หรือ Buddy นี่เอง ที่เพิ่มระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อของเขาคือ Carl Fox (ผู้เป็นเพียงหัวหน้านายช่างซ่อมเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง อุทิศชีวิตและจิตใจอันบริสุทธิ์ให้ผองเพื่อนพนักงานในสหภาพแรงงานของสายการบินที่เขาทำงานอยู่) กับเขาให้ไกลกันออกไปมากขึ้นทุกวันๆ

     Carl ผู้ผ่านโลกมามาก พร่ำสอนลูกอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสได้เจอกันว่า เงินทองที่ได้มาง่ายดาย ได้มาจากการซื้อมาขายไปโดยไม่ต้องออกเหงื่อลงแรง มันไม่ใช่สิ่งยั่งยืน ได้มาเร็วก็ไปเร็ว เขามักจะตั้งคำถามกับลูกว่า ทำไมทุกครั้งที่เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ตัวลูกเองกลับไม่เคยพอใช้เลยสักครั้ง ขณะที่ผู้เป็นลูกไม่ฟังและไม่เชื่อเช่นนั้น ทุกครั้งของการสนทนาระหว่างพ่อลูกคู่นี้ จึงจบลงด้วยการโต้เถียงกัน

     “ความไม่ลงรอยทางความคิด” ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกคู่ที่เกิดขึ้นนี้ คือประเด็นรองของหนัง และเป็นความคำตอบที่ถูกอีกครึ่งหนึ่งของคำถามในย่อหน้าแรกสุด ซึ่งมีความสำคัญ มีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำหลายๆ อย่างของ Bud Fox ตัวเอกของเรื่องเป็นอย่างมาก

พ่อ: มันเก็บโซ่ล่ามแกไว้ในกระเป๋าหลัง แต่แกตาบอดจนมองไม่เห็น

ลูก: ที่ผมเห็นก็คือเครื่องยนต์เก่าขี้อิจฉา ทนมองลูกชายประสบความสำเร็จกว่าเขาไม่ได้เท่านั้นเองแหละ

พ่อ: อย่าวัดความสำเร็จของคน ด้วยจำนวนของเงิน

ลูก: นั่นเพราะพ่อไม่มีกึ๋นออกสู่โลกภายนอก เรียกร้องอะไรด้วยนะสิ

พ่อ: ถ้าแกรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ฉันคงทำหน้าที่ได้ห่วยแตกในฐานะพ่อ!!!

     นั่นเป็นบทสนทนาโต้ตอบของพ่อ-ลูก ในช่วงท้ายของหนัง ก่อนที่ Bud จะซาบซึ้งถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์เงินตรา ว่าโหดร้ายทำลายชีวิตเขาให้ย่อยยับอับจน ยิ่งกว่าตอนที่เคยจนเงินทองเพียงใด

     ก่อนที่เขาจะเข้าใจว่าในชีวิตนี้ ใครที่รักเขาและเขารักใครมากที่สุด

 Always

ไม่ใช่สายเลือด… “Always : Sunset On Third Street”

     Always หนังที่คนส่วนใหญ่ที่ได้ดู เป็นต้องเอ่ยปากชมว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง หนังที่ทำให้หลายคนเสียน้ำตาให้กับ ความอิ่มเอมใจ ความซาบซึ้งตรึงใจในกับมิตรภาพอันแสนบริสุทธิ์ หมดจด งดงามในความรู้สึก

     เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลากหลาย ในชุมชนบนถนนสายเล็กๆ ในซอกหลืบหนึ่งของนครโตเกียว ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองที่อยู่ในช่วงบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังจากตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นต้องเร่งพัฒนาประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะการเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปสู่สังคมอุตสาหกรรม

     รอยต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ถูกนำเสอในหนังผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการมาถึงของตู้เย็น (แทนตู้ใส่น้ำแข็ง) โทรทัศน์ (ความบันเทิงจากกล่องสี่เหลี่ยม) โคคาโคล่า (เครื่องดื่มชนิดแรกที่ทำให้ชาวโลกรู้จักคำว่า “ซ่า”) เด็กสาวต่างจังหวัดที่จำต้องมาหางานทำในเมือง ด้วยหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ฯลฯ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สร้างสีสันให้หนังได้อย่างกลมกลืน

     ตัวละครสองตัวในเรื่องที่กระทบใจถึงขั้นทำให้น้ำตาไหลพราก คือ เรื่องราวของนักเขียนไส้แห้ง ที่อาศัยร้านชำขายขนมและของเด็กเล่นประทังชีวิตไปวันๆ ด้วยความหวังเดียว (อันริบหรี่) นั่นก็คือการได้รางวัลจากงานวรรณกรรมเด็กที่เขาทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตให้กับมัน

     มีเพียงคนเดียวที่เห็นคุณค่าชื่นชมในงานของเขา คือ “จุนโนะซึเกะ” เด็กน้อยหน้าตาท่าทางเซื่องซึม เสื้อผ้ามอมแมม เด็กที่แม้แต่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็ไม่อยากเลี้ยงเอาไว้กับตัว ถูกยัดเยียด โยนไปโยนมาให้อยู่กับคนนั้นทีคนนี้ที สุดท้ายก็มาอยู่กับหนุ่มนักเขียนไส้แห้ง ซึ่งก็รับมาอยู่ในความอุปการะอย่างตกกะไดพลอยโจนและไม่สู้เต็มใจนัก

     จากวันที่หนุ่มนักเขียนได้รู้สึกดีใจ ที่อย่างน้อยก็มีเด็กคนหนึ่งเห็นคุณค่าความสำคัญของงานเขียนที่เขาเคยเขียนไว้ อย่างน้อยชีวิตเขาก็ดูจะมีความหวังมากขึ้น ความรู้สึกดีๆ สายใยแห่งความผูกพันระหว่างเขากับ “จุนโนะซึเกะ” จึงเริ่มต้นขึ้น

     แม้ไม่ใช่พ่อที่ให้กำเนิด แต่ความรัก ความเอาใจใส่ที่มีให้กับเด็กน้อย ไม่ว่าทำอาหารให้ทาน ซักเสื้อผ้าให้ หรือเซอร์ไพรส์เล็กๆ ในวันคริสต์มาส สิ่งเหล่านี้ซาบซึ้งอยู่ในใจ “จุนโนะซึเกะ” อยู่ตลอดเวลา และนั่นก็เริ่มทำให้ทั้งสองยิ้มให้กันมากขึ้น ห่วงหาอาทรกันและกัน

     หนุ่มนักเขียนเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นพ่อคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมายมารองรับ และเด็กกำพร้าคนหนึ่งได้สัมผัสความอบอุ่น ความเอาใจใส่ ความห่วงใย จากชายที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือดเลยแม้สักน้อย คำว่า “ความรัก” คือเส้นสายโยงใยยึดหัวใจทั้งสองไว้ด้วยกัน และหัวใจมนุษย์มักอ่อนไหวกับคำๆ นี้เสมอ

 Saving Face

ไม่ถูกทำนองคลองธรรม… “Saving Face”

     เห็นชื่อหนังลูกครึ่งจีนปนฝรั่งเรื่องนี้ในแบบภาษาอังกฤษ บวกกับที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จนจบแล้ว ตามประสาคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษนัก ไม่แน่ใจว่าจะแปลได้ตรงๆ ตัวตามชื่อได้เลยหรือไม่ว่า “รักษาหน้า” ซึ่งก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีน ที่เรื่องของหน้าตา (ที่ไม่ได้หมายถึง รูปร่างหน้าตาภายนอก) แต่หมายถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตระกูล สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด สำคัญยิ่งกว่าจิตวิญญาณหรือหัวใจคน

     เพื่อรักษาหน้าตาของวงศ์ตระกูล และในอีกทางหนึ่งก็เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ การแต่งงานออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝาไปกับคนที่พ่อแม่จัดหามาให้ จึงดูเป็นสิ่งที่ลูกผู้หญิงเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะไปอยู่บนแผ่นดินไหนของโลกนี้จำต้องตระหนักและยอมรับ

     แม้ว่าคนที่มาร่วมชีวิตจะไม่ใช่คนที่ตนรัก แต่หากเป็นคนที่เหมาะสมในสายตาของพ่อแม่ และสิ่งนั้นทำให้พ่อแม่สบายใจ (และคิดว่า) หมดห่วง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้เป็นการตอบแทนบุญคุณ ด้วยการเชิดหน้าชูตาพ่อแม่ไม่ให้เป็นที่อับอายขายหน้าใคร

     นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมคนจีน (หรือคนไทยเองก็ตาม) มักมีสุภาษิตที่ว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” ประโยคนี้ดูเหมือนจะทำให้ผู้หญิงเราแทบจะกระดิกกระเดี้ยวตัวไม่ได้ จะทำอะไรเป็นต้องระวังทุกฝีก้าว

     เกิดเป็นผู้หญิง ถ้าไม่ได้แต่งงานออกเรือน ก็ถูกนินทาว่าร้ายว่าไม่มีดี จึงไม่มีใครมาสนใจ

     ถ้าแต่งงานออกเรือนก็ต้องแต่งกับคนเหมาะสมทางสถานะ คนที่เชิดหน้าชูตาให้วงศ์ตระกูลได้ ไม่ให้น้อยหน้าใคร

     ถ้าแต่งงานไปแล้ว ไปด้วยกันไม่ได้ เป็นลูกผู้หญิงก็ต้องอดทนอยู่กันต่อไป แม้ใจอยากจะเลิกก็ไม่กล้าทำ เพื่อรักษาหน้าวงศ์ตระกูลไม่ให้เป็นที่ติฉินนินทาในวงสังคม

     หรือถ้าแม่ม่ายสามีตาย ผู้ญิงคนนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะมีใครใหม่ เพราะจะกลายเป็นหญิงหลายใจ

     ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาเหล่านี้ เป็นวัฒนธรรมที่ยังคงเกิดขึ้น มีอยู่ และยังไม่ดับหายไปง่ายๆ แม้ว่าปริมาณความเข้มข้นอาจจะลดน้อยถอยลงไปบ้างตามกระแสถาโถมจากวัฒนธรรมตะวันตกในยุคโลกาภิวัฒน์

     และประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงมาข้างต้น ถูกนำเสนอผ่าน “Saving Face” หนังแนว Drama-Comedy

     พูดถึงชีวิตของแม่ม่าย “Ma” ที่เมื่อยังเป็นสาวรุ่น เธอถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ตนไม่ได้รัก เพื่อศักดิ์ศรีวงศ์ตระกูล เพื่อตามใจพ่อของเธอ ผู้ซึ่งดูจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเธอมาโดยตลอด (แม้ในหนังจะไม่ได้เน้นประเด็นพ่อกับลูกสาวคู่นี้อย่างชัดเจน)

     พ่อของ Ma ย้ายครอบครัวจากจีนแผ่นดินใหญ่มาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ แต่สิ่งเดียวที่พ่อไม่เคยละทิ้งคือ การรักษาไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่ยึดถือสืบต่อกันมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกสาวจะต้องไม่ละทิ้งเช่นเดียวกับตน

     วันหนึ่ง Ma ซึ่งเป็นแม่ม่ายลูก (สาว) ติด ในวัย 48 ปี เกิดตั้งท้องขึ้นมาโดยไม่ยอมสารภาพว่าใครเป็นพ่อของเด็ก พ่อของเธอถึงกับโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับการกระทำที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของเธอ และประกาศตัดพ่อตัดลูกในทันที

     Ma จึงต้องย้ายมาพักอาศัยอยู่กับ “Wil” ลูกสาวที่เธอเองกำลังจัดหาคู่ครองให้ แต่ยังไม่เคยสำเร็จ เพราะ Wil เองมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากหญิงสาวทั่วไปหากมองด้วยสายตาคนรุ่นเก่า

     ภารกิจหา “พ่อ” ให้กับลูกในท้องของแม่จึงเป็นความรับผิดชอบของ Wil เพื่อความสมานฉันท์ของครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างแม่กับปู่ของเธอ

     ในที่สุด ก็หาคนที่จะมาแต่งงานเป็นสามีใหม่ของ Ma ได้ และในวันแต่งงานวันนั้นเอง ความลับที่ถูกเก็บงำมานานก็ถูกเฉลยออกมาว่าใครคือพ่อของเด็กในท้อง และเป็นวันสำคัญที่ Ma ได้เลือกอีกครั้ง ระหว่างการตามใจพ่อของเธอเพื่อรักษาหน้าของตระกูล กับการได้ตามใจหัวใจตัวเองจริงๆ เสียที

     ไม่ว่าโลกจะหมุนเปลี่ยนไปอย่างไร ในสายตาพ่อ ลูกก็ยังเป็นลูกของพ่ออยู่ดี และคนที่พร้อม “ให้อภัย” แก่ลูกเสมอก็คือพ่อนั่นเอง

**********

หมายเหตุ ณ สุกี้มีเดีย จาก Lost in space

     ปล. ขอขอบคุณ คุณ One S. Futher ที่นอกจากมาคอมเม้นท์ใน Jasmine Women แล้ว ยังได้แนะนำหนังเรื่อง Saving Face ให้ได้ลองหามาดูชมกัน หวังว่าคุณ One S. Futher คงจะได้เข้ามาอ่านที่นี่อีกครั้ง

     วันพ่อ คงไม่ได้เป็นแค่วันที่พาพ่อไปเที่ยว ให้ของขวัญ หรือไปทานข้าว สิ่งที่มีมากกว่าคือ การได้มีโอกาสได้คิดทบทวน ปรับปรุง และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อให้ดีขึ้นในเร็ววัน เพราะเราไม่อาจรู้ได้ถึงจำนวนเวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละคนว่ายังมีอีกยาวไกลแค่ไหน

     ต้อขออภัยสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่นิยมการเปิดเผยจุดสำคัญของหนัง อันนำไปสู่การคลี่คลายปมของสถานการณ์ หรือตัวละครในหนัง เนื่องจากผู้เขียนได้พิจารณาใคร่ครวญ โดยเอาหัวใจของคนที่รักการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ใส่ไปในหัวใจของผู้เขียน (เต็มสี่ห้อง) ซึ่งพอจะจำแนกแจกแจงเหตุผลได้ดังต่อไปนี้

     1. การเปิดเผยจุดสำคัญของเรื่อง เกี่ยวกับหนังที่เขียนถึงในครั้งนี้ (และครั้งต่อๆ ไป) ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการชมสูญเสียไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความน่าสนใจ หรือความสนุกของหนัง

     2. ในบางครั้ง ความสนุกสนานเพลิดเพลินของหนังบางเรื่อง ไม่ได้อยู่ตรงที่หนังจะจบลงด้วยความสุขหรือเศร้าอย่างไร ใครหรืออะไรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวละครคิด ตัดสินใจทำอะไร อย่างไรต่อไป ฯลฯ หากแต่บางครั้ง ความสนุกสนานของหนัง อยู่ที่ชั้นเชิงหรือศิลปะในการนำเสนอของผู้กำกับหนัง ว่าจะสามารถตรึงอารมณ์คนดูให้จดจ่อกับหนังไปจนจบเรื่องได้อย่างไรมากกว่า

     3. ผู้เขียนไม่ได้มี่จุดมุ่งหมายในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับหนังที่ได้ดูได้ชม เพียงเพื่อเป็นการแนะนำหนังที่น่าสนใจ รวมถึงขอออกตัวว่าไม่สันทัดในการวิพากษ์วิจารณ์ตัวหนัง เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์ในด้านนี้มากพอ จึงไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เช่นนั้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการเขียนก็เพื่อย้อนคิดทบทวนและสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ทัศนะส่วนตัว รวมถึงคุณค่าที่ได้จากหนังเรื่องนั้นๆ ของผู้เขียนเป็นประการสำคัญ

Jasmine Women      คุณ lost in space ส่งบทความที่พูดถึงหนังจีนเรื่อง Jasmine Women มาให้อ่าน เป็นหนังที่ดูสนุกและให้ข้อคิดเรื่องหนึ่ง แสดงนำโดย Zhang Ziyi และบทความนี้ก็อ่านสนุกไม่แพ้กันครับ

Jasmine Women

โดย lost in space

      เพิ่งจะได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ตอนที่ออกมาเป็นแผ่นวีซีดีเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นเรื่องปกติของคนดูหนังต่างจังหวัดอย่างฉัน ที่ไม่ต้องวาดหวังว่าจะหาดูหนังประเภทที่เรียกว่าหนังทำกล่องทำนองนี้ ได้ตามโรงหนังในต่างจังหวัด       แต่การไม่ได้ดูหนังดีๆ ในโรงหนังเช่นนี้ ก็ไม่ได้ถึงกับทำให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ถึงขนาดทำใจยอมรับไม่ได้ เพราะเนื้อหาสาระ ความสนุกสนานชวนติดตาม อารมณ์อิ่มเอมใจที่ได้รับจากหนังเรื่องนั้นๆ สำคัญกว่าระบบเสียงสเตอริโอรอบทิศทางและแอร์เย็นฉ่ำในโรงหนัง 

      และ Jasmine Women ก็เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่มีสาระอันน่าสนใจ ทั้งทางปัจเจกและทางสังคมซ่อนอยู่ในเนื้อหนังให้คนดูได้เก็บเกี่ยว ขบคิด ตีความกันตามพื้นฐานการรับรู้ ความนิยมชมชอบส่วนตัวของแต่ละคน หนังที่ให้มากกว่าความรู้สึกเศร้า ซึ้ง สะเทือนใจ หรือเสียน้ำตาให้กับชะตากรรมของตัวละคร ตัวละครที่เป็นแกนหลักของ Jasmine Women อยู่ที่ “Mo” หญิงสาวผู้ใช้ชีวิตเล็กๆ อยู่ในร้านถ่ายรูปกับแม่เพียงลำพัง 2 คนในเมืองใหญ่ เซี่ยงไฮ้ ช่วงเวลาราวต้นทศวรรษ 1930 

      หนังใช้วิธีนำเสนอเรื่องราวเส้นทางของชีวิตของ Mo โดยแบ่งออกเป็นสี่องก์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง Mo กับหน่อเนื้อเชื้อไขของเธอ ที่ทั้งเข้มข้นและอ่อนบางแตกต่างกันไปตามบทบาท สถานะในแต่ละช่วงชีวิตของเธอ

องก์หนึ่ง

      เมื่อ Mo เป็นลูกสาวของแม่ที่แสนจะเข้มงวดกับเธอ เธออยากเป็นดารามีชื่อเสียง อยากมีชีวิตรักหวานชื่นที่ลงเอยด้วยการขอแต่งงานจากพระเอกมาดเท่ เหมือนในหนังที่เธอชื่นชอบ 

องก์สอง

      เมื่อ Mo เป็นแม่ที่จำต้องเลี้ยงลูกอันเกิดจากความไม่ตั้งใจ ลูกที่เธอคิดมาตลอดว่าเป็นมารขวางทางชีวิตดาราอันเจิดจรัสของเธอ ซ้ำร้ายความไม่ลงรอยระหว่าง Mo กับแม่ของเธอทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีบุคคลที่ 3 ที่เรียกว่า พ่อเลี้ยงZhang Ziyi

องก์สาม

      เมื่อ “Li” ลูกสาวของ Mo เติบใหญ่มากับภาพเลวร้ายด้านลบของผู้ชาย ที่ฝังลึกในใจเธอตั้งแต่เล็ก และนั่นก็ส่งผลกระทบกับชีวิตคู่ของเธอจนยากเกินเยียวยา แม้เธอจะโชคดีได้พบชายคนรักที่จริงใจกับเธอมากเพียงใดก็ตาม 

องก์สี่

      เมื่อ “Hua” หลานยายของ Mo เติบใหญ่เป็นเด็กสาวร่าเริง สดใส มองโลกในแง่ดี อันเกิดจากความรักความอบอุ่นที่ยายมอบให้ แต่เธอก็ไม่พ้นวังวนของความผิดหวัง ซ้ำรอยเดียวกับยายของเธอ เมื่อเธอตั้งท้องโดยพ่อของลูกในท้องไม่เคยคิดจะเหลียวแลรับผิดชอบ

      ฉันคาดเดาเอาว่า หลายคนที่พอได้ดูหนังเรื่องนี้ คงจะมีมุมมองหรือเห็นพ้องกันในแง่ที่ว่า นี่เป็นหนังเฟมินิสต์ หนังของผู้หญิง มุ่งเน้นประเด็นไปในเรื่องของสิทธิอันชอบธรรมของสตรีเพศ ที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากเพศตรงข้ามอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอดนับแต่โบราณกาล 

      ในชนชาติเอเชีย ผู้หญิงมักถูกกดทับให้ยอมรับสภาพปัญหาอันขมขื่นเพียงลำพัง ตามเส้นกรอบแห่งค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือปัจจัยอื่นใดอีกก็ตาม ที่เป็นตัวกำหนดบทบาทของผู้หญิงในสังคมนั้นๆ

      แม้ว่าผู้หญิงด้านหนึ่งนั้นถูกยกย่องให้เป็น เพศแม่ เพศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความอาทร ในสายตาของคนเป็นลูก ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในบางสังคม บางวัฒนธรรม กลับให้ค่าผู้หญิงเป็นแค่เพียง โรงงานผลิตทายาทสืบสกุล เท่านั้น 

      และในบางครั้ง ผู้หญิงมักถูกเปรียบเทียบเหมือน ดอกไม้งามแต่ก็ได้รับการปฏิบัติให้เป็นเพียงความงามที่มีคุณค่าทางสายตา เพียงดอมดมชื่นชมความหอมหวานชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นในสายตาของผู้ชายไร้ความรับผิดชอบ (บางคน) ที่ยังปรากฏให้เห็นมากมายในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มนุษย์เรามักจะยกตัวเองเป็นอารยชนผู้เจริญแล้ว

      ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นคือ ในบางสังคม บางกรณี ผู้หญิงกลับถูกดูแคลน ถูกลดคุณค่าจากบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้หญิง ด้วยกันเองอย่างไม่ปราณีปราศรัย ไร้ความเห็นอกเห็นใจในความเป็นเพศเดียวกัน 

On the train      แต่ถ้าจะถามว่าส่วนตัวฉันเองชอบอะไรใน Jasmine Women มากที่สุด ถ้าตอบตามอารมณ์ ความพึงพอใจส่วนตัว คือ ฉันชอบบรรยากาศเก่าๆ ในหนัง รายละเอียดปลีกย่อย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ ถ้วยจานชาม ข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนร้านค้า เสียงเพลง การใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่ผันผ่าน เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ที่แม้เป็นเพียงแค่ฉากหลังของเรื่อง แต่มีผลต่อทัศนคติ ค่านิยม และชีวิตที่เป็นไปของตัวละครแต่ละตัว

      ผนวกกับการที่ฉันเติบโตมาในครอบครัวที่มีเชื้อสายชาวจีน การได้ดูอะไรที่เป็นบรรยากาศแบบจีนๆ เก่าๆ ก็เลยยิ่งทำให้รู้สึกใกล้ชิด คุ้นเคยกับหนังเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้เกิดความคิดจินตนาการเลยเถิดไปว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของเราเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไรในสมัยก่อน จะมีส่วนคล้ายในหนังบ้างไหม เขาเหล่านั้นในวัยที่อ่อนเยาว์ ต้องพบเจอหรือฝ่าฟันอะไรมาหนักหนาสาหัสทั้งกายและใจแค่ไหน 

      ฉันคิดว่าฉันคงมีคำถามมากมายในสมองที่อยากถาม หากบรรพบุรุษที่ล่วงลับยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ สำหรับฉันแล้วการดูหนังเรื่องนี้มันมากกว่าอารมณ์ถวิลหาอดีต แต่กลับเป็นการจุดประกายให้อยากตามรอยรากเหง้าของตัวเองเพิ่มมากขึ้น

      มันทำให้ฉันนึกถึงคำกล่าวว่า เราไม่อาจเข้าใจตัวตนในปัจจุบันของเราได้ ไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนแห่งปมปัญหาในปัจจุบันได้ หากเราไม่รู้จักอดีตของตัวเอง และเมื่อเรารู้ เข้าใจ และยอมรับรากเหง้าที่มาของตัวเอง เมื่อนั้น ย่างก้าวต่อไปของชีวิตเราก็ไม่ใช่เรื่องมืดมน อับจนหนทางอีกต่อไป

      เหมือนกับในหนังเรื่องนี้ที่ Hua ค้นพบทางออก เมื่อเธอเดินมาถึงทางตันของชีวิต ด้วยการเรียนรู้ร่องรอยแห่งอดีตจากคุณยายของเธอ ยายผู้เป็นเสมือนรากแก้วยึดโยงชีวิตและจิตวิญญาณเพียงหนึ่งเดียวของเธอ ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง Hua กับยายนั้น ไม่ได้ก่อกำเนิดจากการสืบสายเลือดเดียวกันก็ตาม

      มีแฟนประจำรายการของผมคนหนึ่ง ติดตามงานทั้งทีวี วิทยุ และงานเขียนของผมมาตลอด มาวันนี้เธอจะแสดงฝีมือเองบ้าง ด้วยข้อคิดเห็นที่คล้ายๆ กับบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ถึงแม้จะยังไม่สามารถเรียกว่าบทวิจารณ์ได้เต็มร้อย แต่ก็ถือว่าเป็นทัศนะที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย อ่านแล้วคิดเห็นอย่างไร บอกต่อกันด้วยครับ

The Departed

โดย lost in space

The Departed

      คำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ตามตำราพิชัยสงครามของซุนวู เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อหวังผลฟาดฟันห้ำหั่นศัตรูฝ่ายตรงข้ามให้แพ้พ่าย ยอมหมอบราบคาบแก้วแต่โดยดี

      หนึ่งในวิธีการ “รู้เขา” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ ลดการคาดเดาให้น้อยที่สุด ได้เปรียบที่สุด คือวิธีการส่งไส้ศึก หรือ “หนอนบ่อนไส้” นั่นคือส่งคนเข้าไปแฝงตัวในฝ่ายตรงข้ามเพื่อเจาะหาข้อมูล ตามความเคลื่อนไหวของศัตรู นี่ดูว่าอาจจะเป็นวิธีดีที่สุดในการ “รู้เขา” แต่ก็เสี่ยงที่สุดเช่นกัน

      คนที่ถูกกำหนดให้เป็น “หนอน” ต้องยอมรับสภาพ และรู้อยู่แก่ใจดีแต่แรกแล้วว่าชีวิตจะเดินไปในทิศทางใด แน่นอนว่ามันไม่สดใสสวยงามดังความฝัน ทุกก้าวย่างไม่นิ่มนวลเหมือนทางเดินที่ปูลาดด้วยพรม และหากผิดพลาด ชีวิตจะจบลงอย่างน่าเอน็จอนาถขนาดไหน

      ใน The Departed มีหนอน 2 ตัว ที่อยู่คนละขั้ว ระหว่างฝ่ายตำรวจ และแก๊งมาเฟีย ทั้งสองจำต้องรับสภาพชีวิตให้เป็นไปตามภูมิหลังชีวิตที่เลือกไม่ได้ ภูมิหลังที่คนส่วนใหญ่ในสังคมกำหนดวางไว้ไม่ให้ไกลเกินกว่าพวกเด็กข้างถนน พวกอันธพาลนักรีดไถ พวกมิจฉาชีพฯลฯ

      Colin Sullivan (Mat Damon) เติบโตขึ้นมาจากเด็กยากจนคนหนึ่ง ในย่านคนยากไร้หลากเชื้อชาติแห่งหนึ่งในบอสตัน จนกลายเป็นนายตำรวจหนุ่มรุ่นใหม่ ภาพลักษณ์ดูดี มีการศึกษา อนาคตไกล ด้วยการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจาก Frank Costello (Jack Nicholson) หัวหน้าแก๊งมาเฟียชาวไอริชอันเลื่องชื่อ แต่หาตัวจับยาก แม้แต่หัวหน้าแก๊งอื่นในบอสตัน เพียงได้ยินชื่อเขายังขยาด ชื่อของ Frank Costello ถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ในบัญชีดำของตำรวจบอสตันมานานหลายปี

      Sullivan ผู้ถูกเลี้ยงในแก๊งมิจฉาชีพมาตั้งแต่เด็กจนโต มีแววฉลาดเก่งกาจในทางบุ๋น คือการใช้สมองและไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เขาจึงถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อทำหน้าที่เป็นไส้ศึกส่งข่าวให้กับแก๊งของ Costello ในยามที่ตำรวจส่งทีมไล่ล่า การซื้อขายของผิดกฎหมายทุกครั้งของ Costello จึงไม่เคยถูกจับได้ไล่ทัน ก็เพราะมีหนอนอย่าง Sulivan นั่นเอง

      Billy Costigan (Leonado DiCaprio) เป็นชีวิตอีกขั้วที่คู่ขนานไปกับชีวิตของ Sullivan ภูมิหลังทางครอบครัวของ Costigan รายล้อมไปด้วยกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพในแหล่งชุมชนแออัดหลากชาติหลายพันธุ์ แม้ว่า Costigan จะพยายามถีบตัวเองให้พ้นจากสภาพแวดล้อมเดิม ที่อนาคตมีแต่ความมืดมนอนธการ ด้วยการสอบเข้าเรียนนายร้อยตำรวจจนจบออกมา เพื่อหวังจะเป็นตำรวจที่ดี มีอุดมการณ์ มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่ดูเหมือนเขากลับถูกผลักไสให้กลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมๆ อีกครั้งด้วยเหตุผลอันขันขื่น เพียงเพราะเขามีภูมิหลังทางครอบครัวที่ดูแย่และเลวร้ายกว่าใครในบรรดานักเรียนตำรวจรุ่นที่เขาเรียนจบมา เหมาะสมที่จะใกล้ชิดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับพวกมิจฉาชีพได้อย่างไร้ข้อสงสัย

      Costigan ไม่เต็มใจในหน้าที่นัก แต่ก็ต้องรับผิดชอบ เขาถูกส่งให้ไปเป็นสายสืบนอกเครื่องแบบ แฝงตัวอยู่ในแก๊งของ Costello เพื่อคอยส่งข่าวให้ทางตำรวจรู้ความเคลื่อนไหวในทุกครั้งที่มีการลักลอบซื้อขายของผิดกฎหมาย และเป้าหมายที่สำคัญคือ การจับกุมหรือกำจัด Costello ให้ได้

      ทั้ง Colin Sullivan, Billy Costigan และ Frank Costello เป็น 3 ตัวละครหลักสำคัญของ The Departed ที่ทำให้ตัวหนังดำเนินไปอย่างเข้มข้นชวนติดตาม ด้วยความมีมิติของตัวละครทั้ง 3 แต่ละคน ล้วนมีความขัดแย้งในตัวตนของตัวเอง เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ Sullivan ต้องเลือกระหว่างเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเติบโตในหน้าที่การงาน และชีวิตครอบครัวดีๆ ที่อยู่ใกล้แค่คืบ แต่สิ่งเหล่านั้นมันกลับจะเกินไกลเอื้อม หากเขาต้องเลือกรับผิดชอบต่อภารกิจเพื่อตอบแทนบุญคุณให้ Costello ผู้ที่เขาเรียกว่า “พ่อ”

      ขณะที่ Costigan ต้องว้าวุ่นสับสนใจอยู่ตลอดเวลากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างคำว่า “หน้าที่ของตำรวจที่ดี” กับ “ฆาตกรเลือดเย็น” ยิ่งนานวันที่เขาตกอยู่ในวังวนนี้เท่าไหร่ เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วย “ยาระงับประสาท” จากจิตแพทย์ในจำนวนที่มากขึ้นเท่านั้น

      ส่วน Billy Costigan มีชีวิตไม่ต่างจากเจ้าพ่อแก๊งมาเฟียผู้มีอิทธิพลทั่วไป เขามีทุกอย่างที่ต้องการ เงินทอง ทรัพย์สิน และผู้หญิง จะขาดก็แต่ “ความวางไว้ใจ” ที่เขาอยากได้ อยากมี และเขาก็รู้อยู่แก่ใจตลอดเวลาว่า เขาจะไม่มีวันได้ ตราบใดที่เขายังเดินบนถนนสายมิจฉาชีพเปื้อนเลือดเส้นนี้ แต่ Costigan ก็ยังไม่เคยคิดเปลี่ยนใจที่จะเลิกเดิน

      The Departed (สร้างมาจากหนังต้นฉบับเดิมคือ Infernal Affairs หรือ 2 คน 2 คม ของฮ่องกง) ไม่ใช่ภาพยนตร์แอ็คชั่น ไล่ล่า ล้างผลาญ เลือดท่วมจอ ตามชื่อภาษาไทยของหนัง “ภารกิจโหด แฝงตัวโค่นเจ้าพ่อ” ที่ทำให้คนดูบางส่วนเข้าใจไขว้เขวในแนวหนังได้ แต่จัดเป็นหนังชีวิตที่ทำให้ได้คิดว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ด้านเดียว มุมเดียว ไม่ได้มีแค่สีขาวกับสีดำ เราไม่อาจตัดสินคนๆ หนึ่ง ด้วยการมองจากมุมใดมุมเดียว หรือจากสิ่งที่เห็นแค่เปลือกนอก ดังนั้น “การรู้หน้าจึงไม่ได้หมายถึงว่ารู้ใจ” และควรยอมรับด้วยว่าบางครั้งการได้รู้ใจบางคน รู้ความจริงบางอย่าง แม้ว่าอาจทำให้เรารู้สึกตาสว่างขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราเจ็บปวดใจ สูญสิ้นศรัทธามากขึ้นด้วยเช่นกัน


Blog Visits

  • 158,846 hits