Suki Media

Archive for the ‘ธรรมเป็นธรรม’ Category

     ชักจะไปกันใหญ่แล้วครับ เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ใครลองได้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูทีวีช่วงนี้ ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ผมว่าคนผู้นั้นคงจะไร้หัวจิตหัวใจพอดูทีเดียว

     ปัญหาสารพัดที่รุมเร้าจนคนรับข่าวสารอย่างเราๆ ท่านๆ ยังอ่อนใจ นับประสาอะไรกับรัฐบาลที่ต้องคอยแก้ปัญหาบานตะไทไม่เว้นแต่ละวัน เห็นสภาพแล้วดูไม่จืดจริงๆ ครับ

พุทธทาส     วันที่ดูจะน่าหนักใจแบบนี้ ผมเหลือบไปเห็นหนังสือของท่านพุทธทาสเล่มหนึ่งบนตู้หนังสือ จึงอดไม่ได้ที่จะหยิบมาเปิดอ่านเสริมสร้างปัญญาเสียหน่อย

     “บันทึก นึกได้เอง : ว่าด้วยชีวิต สังคม การเมือง สันติภาพ และหลักคิดสำคัญๆ”

     หนังสือที่รวบรวมข้อเขียนของท่านพุทธทาส ที่จดบันทึกรายวันตามแต่ท่านจะจับประเด็นเรื่องใดได้ โดยท่านพุทธทาสจะจดความคิดนั้นไว้ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุด เศษกระดาษ ซองจดหมาย ถุงใส่ของ ปฏิทินเก่า หรืออะไรก็ตามที่หยิบฉวยได้ในขณะนั้น และได้เก็บรวบรวมไว้ทุกวันในรอบปี พ.ศ. 2495

     ผมพลิกไปที่วันเสาร์ที่  16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 หัวข้อที่ท่านเขียนถึงในวันนั้นคือ…

     “การเมืองคืออะไร?”

     ผมขอคัดบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังแล้วกันครับ

     “การเมือง คือสิ่งที่ตั้งรากฐานอยู่บนความทะเยอทะยาน ในการอยู่เติบกินเติบ หรือความมัวเมาในความสุขทางเนื้อหนัง โดยปราศจากการนึกถึงโลกหน้า พระเป็นเจ้า และความตาย และมีอำนาจเป็นความถูกต้อง และประโยชน์ของตนเป็นความยุติธรรม…”

     “…สำหรับการเมืองภายในประเทศนั้น ลัทธิฝ่ายอภิชนาธิปไตย นับตั้งแต่ราชาธิปไตยลงมา ก็คือ การสงวนการอยู่เติบกินเติบไว้สำหรับคนบางชั้นบางพวก และลัทธิฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ การยื้อแย่งเอาการอยู่เติบกินเติบนั้น มาเฉลี่ยกันให้ทั่วถึง…”

     “…เผด็จการกับประชาธิปไตยจึงไม่มีความหมายอันแตกต่างอะไรกัน เพราะเป็นการจัดเพื่อให้ฝ่ายของตน ได้มาซึ่งการอยู่เติบกินเติบนั่นเอง และประชาธิปไตยนั้น เมื่อถึงคราวที่จะแสดงบทบาทอันจริงจังขึ้นมา ก็ได้มอบกำลังและอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาด และนั่นก็คือเผด็จการนั่นเอง แล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามอำนาจกิเลสของผู้มีอำนาจ จึงเห็นได้ว่า ที่แท้นั้นก็คือ กิเลสาธิปไตย ต่างหาก ที่บังคับกลุ่มชนให้เป็นไป…”

     “…ในวงประชาธิปไตยนั้นเล่า ถ้าเป็นการปฏิวัติที่แย่งการอยู่เติบกินเติบมาจากอภิชนาธิปไตย ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ถ้าใครเกิดปฏิวัติเพื่อยื้อแย่งการอยู่เติบกินเติบ ไปจากชนชั้นที่ครองอำนาจนั้น ไปแยกกระจายให้ทั่วถึงคนชั้นต่ำโดยทั่วไป โลกสมัยนี้ยังถือว่าเป็นการกระทำผิดหรืออาชญากรรมทีเดียว (เช่นที่พวกเสรีประชาธิไตยกำลังกล่าวหาพวกคอมมิวนิสต์อยู่) จึงเห็นได้ว่าอำนาจยังเป็นความยุติธรรมอยู่…”

     “…กรณีเช่นนี้ เผด็จการหรือประชาธิปไตยย่อมสูญสิ้นความหมายไปด้วยกัน คงอยู่แต่ว่าวิธีใดให้สำเร็จความประสงค์ของตนแล้ว ย่อมใช้วิธีนั้น…”

     “…ฉะนั้น การเมืองจึงมิใช่สิ่งที่สามารถจัดโลกให้มีสันติภาพ ซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์สะอาด ความสว่างไสวแจ่มแจ้ง และความสงบเยือกเย็นอันแท้จริง”

     ได้ทราบกันเช่นนี้แล้ว คิดเห็นอย่างไร โปรดตรึกตรองกันเอาเอง

     ห็นข่าวพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้ว ก็อดถอนหายใจเฮือกใหญ่ไม่ได้

     คงรู้นะครับว่าหมายถึงอะไร

                            (รูปจาก www.manager.co.th)    

     เรื่องนี้ผมต้องบอกตามตรงว่า เป็นเรื่องนานาจิตตังอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีเหตุผลที่ฟังขึ้นและฟังไม่ขึ้น ซึ่งผมก็ไม่ขออธิบายหรือพูดถึงเหตุผลทั้งหลายเหล่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็นำมากล่าวอ้างได้อยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องศาสนาเป็นเรื่อง “นามธรรม”

     นอกจากจะเป็นนามธรรมแล้ว ยังเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ซึ่งหลายคนอาจฟังคำนี้จนเอียน พร้อมถามว่าทำไมจึงว่าละเอียดอ่อน และมันละเอียดอ่อนตรงไหน

     ตีความง่ายๆ เลยก็คือ เรื่องใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ศรัทธา” ของคน สิ่งนั้นเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”

     อย่างที่เขาว่ากันว่า เรื่องที่ไม่ควรนำมาพูดคุยกันในวงสนทนาบ่อยๆ คือ เรื่องการเมือง ฟุตบอล และศาสนา เพราะแต่ละคนก็มีความเชื่อหรือมีศรัทธาตามแต่ใจตัวเอง บางครั้งก็อยู่นอกเหนือจากเหตุผล

     คนที่นำ 3 เรื่องนี้มาคุยกันบ่อยๆ จึงปากแตกกันมาเยอะแล้ว

     เพราะฉะนั้น เหตุผลของการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือนั้น เป็นสิ่งที่ควรละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ของแต่ละคน) เพราะทุกคนย่อมเชื่อเหตุผลของตัวเองเป็นสำคัญ ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะไปเรียกร้องหรือไม่เรียกร้อง จะไปกดดันใครหรือไม่กดดันใคร ก็เป็นเรื่องของปัจเจกล้วนๆ

     แต่ฐานะของ “บุคคล” ที่จะไปดำเนินการอย่างที่ว่านั้นต่างหาก ที่ไม่ควรเป็น “พระสงฆ์”

     ไม่มีใครจะตั้งท่ารังเกียจรังงอนอันใด หรือกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อพุทธศาสนา หากผู้ครองเพศบรรชิตเหล่านี้จะเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่

     ถ้าจะพูดกันตามพระธรรมวินัยดั้งเดิม ก็ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์

     พระสงฆ์เป็นผู้สละแล้วในทางโลก หน้าที่หลักคือปฏิบัติธรรม เพื่อลด ละ เลิก กิเลสทั้งปวง รวมทั้งมีหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาตามวัตถุประสงค์หลักของการเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย

     แต่ผมไม่อยากนำพระธรรมวินัย กรณี “กิจของสงฆ์” มากล่าวอ้างกันอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ รวมทั้งยังเชื่อว่าพระสงฆ์เหล่านี้ย่อมรู้ถึงวินัยข้อนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

     ที่สำคัญ การประพฤติปฏิบัติของสงฆ์ในทุกวันนี้ ก็ละเมิดพระธรรมวินัยข้อดังกล่าวจนเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่เรื่องที่กระทำนั้น หากถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็อาจพออนุโลมกันได้ อย่างเช่นการพัฒนาชุมชนในส่วนที่รัฐให้ความช่วยเหลือไม่ถึง หรือการสร้างวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

     ซึ่งถ้าหากว่ากันตามจริงแล้ว เรื่องดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ และบางเรื่องเป็นชนวนเหตุให้เกิดความวุ่นวายหรือกิเลสต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ ที่เห็นชัดๆ คือการสร้างวัตถุมงคลจนเป็นพุทธพาณิชย์ และผมก็สงสัยเหลือเกินว่า พระที่ปลุกเสกวัตถุมงคลจะบาปหรือไม่ หากวัตถุมงคลดังกล่าวเป็นชนวนเหตุให้คนเหยียบกันตาย

     และถ้ายิ่งเรื่องใดที่นอกเหนือจากการพัฒนาชุมชนและสร้างวัตถุมงคลแล้ว พระสงฆ์ยังต้องออกมาจากวัด เพื่อยุ่งเกี่ยวในทางโลกอีก ผมก็เห็นว่ามันเกินควรไปหน่อย

     เพราะการได้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ…

     มันช่วยให้พระสงฆ์ลด ละ เลิก กิเลสได้เร็วขึ้นหรืออย่างไร

     มันช่วยให้พระสงฆ์มีศีลบริสุทธิ์มากขึ้น จนบังเกิดเป็นสมาธิ และปัญญาต่อไปหรืออย่างไร

     มันช่วยให้พระสงฆ์บรรลุมรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้นหรืออย่างไร

     มันช่วยให้ประชาชนไทยหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้นหรืออย่างไร

     หรือมันช่วยให้พระสงฆ์มีฐานันดรที่สูงขึ้นหรืออย่างไร

     ท่านพุทธทาสเคยกล่าวถึงพุทธศาสนาในสายตาของแต่ละบุคคลที่มองเข้ามา ซึ่งอาจจะมองแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นเพหรือภูมิหลังของคนๆ นั้น

     อย่างนักศีลธรรมก็จะมองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็น “ศีลธรรม”

     บางคนมองว่าพุทธศาสนาเป็น “สัจธรรม”

     บางคนมองพุทธศาสนาเป็น “ศาสนา”

     บางคนมองพุทธศาสนาเป็น “จิตวิทยา”

     บางคนมองพุทธศาสนาเป็น “ปรัชญาและวิทยาศาสตร์”

     และบางคนมองพุทธศาสนาว่าเป็น “ศิลปะ”

     แต่มุมมองที่ท่านพุทธทาสยืนยันว่า เป็นเหลี่ยมมุมที่ต้องสนใจมากที่สุดก็คือ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็น “ศาสนา” เพราะเป็นมุมมองที่พูดถึงวิธีปฏิบัติอันจะก่อให้เกิดศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อนำไปสู่การมองโลกในแง่จริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนันตา

     นั่นหมายถึง ไม่มีอะไรในโลกนี้เที่ยงแท้ (อนิจจัง) ไม่มีอะไรที่เราเข้าไปยึดถือแล้วไม่เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และไม่มีอะไรเป็นของของเรา แม้กระทั่งตัวเราเอง (อนัตตา)

     เฉกเช่นเดียวกัน การยึดมั่นถือมั่นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นสิ่งที่ชาติควรตราเอาไว้ในกฎหมายว่าต้องมีประจำประเทศ จึงเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง

     และน่าเสียใจมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้ออกมาเรียกร้องกลับกลายเป็นผู้ถือครองสมณเพศ อันได้ปวารณาตัวไว้แล้วว่าจะเลิกยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเป็นสรณะ

     แต่นี่กลับมองพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็น “อัตตา” ไปอย่างไม่น่าให้อภัย

     ผมจึงอยากนิมนต์พระสงฆ์องคเจ้าทั้งหลายให้กลับวัดเสียเถิด กลับไปปฏิบัติธรรมอย่างแข็งขันและให้ปัญญาแก่พุทธศาสนิกชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานยิ่งๆ ขึ้นไป

     และความยั่งยืนจะบังเกิดผลโดยไม่ต้องมีใครมาเขียนลงในกระดาษหรือจารลงในใบลานเลยแม้แต่นิดเดียวว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทย”

     เพราะนั่น…มันไร้สาระสิ้นดี


Blog Visits

  • 158,846 hits