Suki Media

 Jimmy Wales

สมัยนี้หากใครที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยๆ แต่บอกว่าไม่รู้จักเว็บไซต์สารานุกรมเสรีที่ชื่อ วิกิพีเดีย (Wikipedia) ก็คงต้องเอาหน้ามุดแผ่นดินกันเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าความรู้ประเภทไหนก็สามารถหาได้ในวิกิพีเดีย และถ้าลองค้นหาข้อมูลอะไรก็ตามในกูเกิล บทความของวิกิพีเดียก็มักจะติดอันดับต้นๆ เสมอ

หลายคนอาจถามว่าที่นี่มีดีอะไร แล้วข้อมูลต่างๆ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยระบบของวิกิพีเดียที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าไปเขียน แก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติม บทความขอตัวเองและผู้อื่นได้ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่า ใครๆ ก็เขียนสารานุกรมได้ แล้วอย่างนี้ข้อมูลจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร รวมถึงอาจมีการกลั่นแกล้งต่างๆ เช่น การแก้บทความกันไปมา การใส่ข้อมูลเท็จ การเซ็นเซอร์บทความ เป็นต้น

เป็นโอกาสที่ดีที่ จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ได้เดินทางมาปาฐกถาในงาน ICT Expo 2007 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้นที่อาจจะค้างคาใจใครหลายคนมานาน ได้รับการเปิดเผยเสียที

ไม่มีหรอกครับเรื่องเซ็นเซอร์ที่วิกิพีเดีย จะมีก็แต่การประเมินของกองบรรณาธิการ ซึ่งเรามีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้คนได้ถกเถียงกันว่า บทความต่างๆ ที่คนเขียนมานั้นสมควรได้รับการเผยแพร่หรือไม่ เพราะบทความที่ดีจริงๆ ในวิกิพีเดียประกอบด้วย 2 ปัจจัยคือ หนึ่งเขียนได้ดี และสองมีแหล่งที่มาอ้างอิงได้ บางคนเขียนมาโดยไม่มีแหล่งอ้างอิง กองบรรณาธิการก็ต้องลบทิ้ง ซึ่งบางคนอาจเรียกว่านั่นคือการเซ็นเซอร์ แต่ผมเรียกว่าเป็นการประเมินของกองบรรณาธิการ

ที่ผ่านมาเราพยายามให้มีบทความดีๆ อย่างที่บอก แต่แน่นอนว่าก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมด บ่อยครั้งจึงมีคนพูดว่า เรื่องนี้จริงหรือเปล่า น่าเชื่อถือหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนที่ใช้วิกิพีเดียเองมากกว่า คือจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเรื่องไหนน่าเชื่อถือและเรื่องไหนควรได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุง

ส่วนการแก้บทความกันไปมาระหว่างผู้เขียน 2 คน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่เราก็มีกฎเกณฑ์ที่ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามแก้บทความกลับไปเป็นเหมือนเดิมถึง 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าคุณละเมิดกฎนี้ก็จะถูกแบนจากวิกิพีเดียเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

แม้จิมมีจะยืนยันว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ในวิกิพีเดียอย่างแน่นอน แต่บนโลกออนไลน์ก็ยังมีเว็บไซต์ที่ออกมาโจมตีวิกิพีเดียว่า ข้อมูลต่างๆ และบทความในวิกิพีเดียไม่มีความน่าเชื่อถือ ลำเอียง หรือแม้กระทั่งไม่เป็นความจริงด้วยซ้ำ

เวลาเว็บไซต์ไหนดัง ก็มักจะมีเรื่อง (การโจมตี) ทำนองนี้อยู่เสมอ แต่ก็อย่างที่บอกครับ ถ้าบทความใดมีคุณภาพ ก็จะมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะโจมตีหรือวิจารณ์อะไรก็ไม่ว่ากัน เพราะผมก็บอกได้ว่า นี่ไงล่ะ…ข้อมูลอ้างอิง ซึ่งผู้อ่านก็แค่เลื่อนหน้าเว็บลงไปด้านล่าง แล้วคลิกที่ข้อมูลอ้างอิงเพื่อเช็คกลับไปที่ต้นตอว่าข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาจากที่ไหน อาจจะมาจากในอินเทอร์เน็ตหรือในหนังสือก็ได้ แต่คุณก็สามารถเช็คได้ด้วยตัวคุณเอง

และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าใครก็ตามสามารถเขียนบทความในวิกิพีเดียได้ ไม่ว่าจะจบ ป.4 หรือปริญญาเอก เพียงแต่ผู้เขียนต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ไม่ใช่เขียนขึ้นมาลอยๆ แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ทำให้บางคนวิพากษ์วิจารณ์จิมมีว่าเขาเป็นพวกต่อต้านหัวกะทิ หรือ Anti-Elitist

บางคนเรียกผมหรือวิกิพีเดียว่าอย่างนั้น แต่เราไม่ใช่พวกต่อต้านหัวกะทิหรอกครับ เพราะเราถือว่าเราเป็นพวกหัวกะทิเองนั่นแหละ แต่เป็นหัวกะทิในแบบของเราเอง ถ้าจะเป็นพวกต่อต้านอะไรบางอย่าง ผมก็อาจจะเป็นพวกต่อต้านคนจบปริญญามากกว่า อย่างเช่นถ้าคุณจะมาเอาชนะการถกเถียงหรือข้อโต้แย้งใดๆ ด้วยการบอกว่าคุณจบปริญญาเอกนะ ผมว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ ถูกต้อง คุณอาจจะรู้ในบางเรื่อง แต่ยังไงช่วยอ้างอิงที่มาของสิ่งที่คุณรู้ด้วยนะ (หัวเราะ)

วิกิพีเดียเป็นสังคมเปิดครับ ทุกคนสามารถแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน แม้จะมาจากต่างสัญชาติ ต่างวัฒนธรรมกันก็ตาม คนส่วนใหญ่ในนั้นก็มักจะชื่นชมและนับถือคนที่รู้จริงในสิ่งที่เขียน แต่ถ้าใครไม่รู้จริง ผมกล้าพูดได้เลยว่า เขาคนนั้นก็ไม่ควรที่จะมาเขียนสารานุกรม

การเป็นคนตรงไปตรงมาของจิมมี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่พอใจหรือหมั่นไส้ในตัวเขา แม้กระทั่งการสร้างวิกิพีเดียภายใต้การดำเนินงานแบบมูลนิธิ ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่ใครหลายคนพอสมควร เพราะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกขณะนี้ที่มีอยู่ประมาณพันล้านคน สามารถสร้างรายได้ให้วิกิพีเดียได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

ในช่วงที่ผมเริ่มก่อตั้งเว็บไซต์นี้ เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตของธุรกิจดอทคอม เวลานั้นตลาดหุ้น NASDAQ ร่วงลงอย่างมาก ไม่มีใครอยากลงทุนในธุรกิจประเภทนี้อีก แต่ผมก็ลงทุนด้วยเงินตัวเองทั้งหมด โดยคิดแต่เพียงว่าจะทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะทำเป็นธุรกิจเลย

ใครจะรู้ว่าความคิดแรกของการสร้างสารานุกรมเสรีที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ จะเริ่มจากสิ่งที่เป็น hobby ของจิมมีเท่านั้น เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว จิมมีก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงไซเบอร์มาก่อนด้วยซ้ำ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงิน และวนเวียนอยู่ในแวดวงการเงินและตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยในระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นก็เรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการเงินไปด้วย

ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่นั้น เป็นจังหวะที่ Netscape เพิ่งเข้าตลาดหุ้น และไม่นานมันก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ผมแทบช็อคเลยทีเดียว มันบ้าเอามากๆ เหลือเชื่อจริงๆ และนั่นก็จุดประกายให้ผมเริ่มหันมาสนใจโลกแห่งอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ความสนใจด้านอินเทอร์เน็ตของจิมมีนั้น มีมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เขาถึงกับเปลี่ยนใจไม่ส่งวิทยานิพนธ์เอาดื้อๆ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่จบดอกเตอร์ในที่สุด แต่จิมมีบอกว่าเหตุผลที่เขาไม่ส่งวิทยานิพนธ์ก็เพราะเขาแค่เบื่อกับการเรียนปริญญาเอกเท่านั้นเอง

ผมเบื่อมากๆ เลย แล้วที่จริงผมก็ยังสนุกกับงานที่ทำอยู่ในขณะนั้นด้วย ประกอบกับสนใจทำโครงการเว็บไซต์เล็กๆ ที่เกี่ยวกับความรู้เสรีเท่านั้นเอง

จิมมีพูดถึงเว็บไซต์ที่ชื่อนูพีเดีย (Nupedia) ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรีที่ให้ผู้ใช้เข้าไปเขียน ปรับปรุง และแก้ไขบทความกันเอง โดยมีวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์รองรับบทความเบื้องต้น จากนั้นจึงค่อยส่งเรื่องที่สมบูรณ์แล้วไปเผยแพร่ในนูพีเดีย แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน วิกิพีเดียกลับโตเร็วแซงหน้านูพีเดียเสียอีก จิมมีจึงหันมาพัฒนาวิกิพีเดียแทน

ผมพบว่าคนสนใจเข้ามาเขียนบทความกันมากขึ้น โดยไม่แบ่งแยกสัญชาติและวัฒนธรรม ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีมาก และมันจะไม่มีทางเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ถ้าผมทำเป็นธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาเราสามารถตัดสินใจทำโครงการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรสุทธิ แต่ถึงยังไง ผมก็ยอมรับว่าการที่วิกิพีเดียดำเนินงานภายใต้มูลนิธิก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากเรามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ และค่าเซิร์ฟเวอร์ที่เรามีอยู่ถึง 4 แห่ง ซึ่งถ้าเรามีเงินมากกว่านี้ หรือมีรายได้ดีอย่างกูเกิล เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะเลย แต่ถามว่าถึงขึ้นขัดสนหรือไม่ ไม่เลยครับ เราใช้วิธีการรับบริจาค ซึ่งทำบ้างเป็นบางครั้ง และก็มีคนบริจาคให้เราเสมอ

ความโด่งดังของวิกิพีเดีย ข้อมูลความรู้อันมากมาย และการดำเนินงานภายใต้องค์กรการกุศลเช่นนี้ บางคนก็อดคิดดีใจไม่ได้ว่า ถ้าอย่างนั้นในอนาคตเราคงหาความรู้ได้ฟรีๆ ในวิกิพีเดีย โดยไม่ต้องไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเลยละสิ หรือว่า amazon.com คงจะต้องเจ๊งแน่ๆ ใช่ไหม

ไม่หรอกครับ ผมไม่คิดว่าในอนาคตความรู้ทุกอย่างจะเป็นของฟรี สำหรับความรู้ทั่วไปอาจจะฟรี หรือมีราคาถูกมากๆ แต่ถ้าเป็นความรู้เฉพาะทางก็คงไม่ฟรี เทคโนโลยีจะเป็นตัวทำให้ความรู้มีราคาถูกลงหรือกลายเป็นของฟรีเลย อย่างในวิกิพีเดียเป็นต้น แต่ถ้าคุณอยากจะอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงหาไม่ได้ในวิกิพีเดีย ผมคิดว่ายังไงคนก็คงซื้อหนังสืออ่าน แต่หนังสือก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้ามันมีราคาแพงเกินไป คนก็จะก๊อปปี้ไปแจกจ่ายกันในอินเทอร์เน็ตแทน ถึงแม้การอ่านบนหนังสือจริงๆ จะรู้สึกดีกว่าการอ่านบนจอคอมพิวเตอร์หลายเท่าก็ตาม

วิกิพีเดียทำให้อินเทอร์เน็ตในวันนี้กลายเป็นโลกเสรีมากยิ่งขึ้น ความรู้ทุกอย่างถูกเผยแพร่ถึงกันอย่างไร้พรมแดนและไร้ราคา แม้จิมมีจะบอกว่าในอนาคตเรายังต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อแลกความรู้บางอย่างมา แต่เขาอาจลืมนึกถึงพฤติกรรมศาสตร์ของคนใช้อินเทอร์เน็ตไปอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือคนส่วนใหญ่ยังคิดเสมอว่าทุกอย่างบนโลกไซเบอร์นั้น…เป็นของฟรี

 (ติดตามคลิปสัมภาษณ์ Jimmy Wales ได้ที่ SukiFlix)

ป้ายกำกับ: ,

S u k i F l i x

www.sukiflix.com

     ากเรื่องระบบเว็บไซต์และงาน production แล้ว คราวนี้มาถึงเรื่อง content บ้างครับ เรื่องนี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แล้วแต่จังหวะครับ

     ปัจจัยสำคัญของการสร้าง content ให้น่าสนใจและแตกต่าง มาจากหลายอย่าง เช่น สมาธิ สิ่งแวดล้อม และอัตตา

     เราพยายามมีสมาธิที่ดี พยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แต่พยายามลดอัตตา ขณะเดียวกันก็จะไม่ลดลงไปถึงระดับที่ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย

     สมาธิที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเวลาสมองตื้อ เราจะไม่สามารถคิดอะไรได้ดั่งใจ เราอยากได้รายการแบบนั้นแบบนี้ เราอยากให้เนื้อหามุ่งเน้นทางนั้นทางนี้ แต่บางทีทำไม่ได้ เพราะขาดสมาธิที่ดี ซึ่งหมายถึงสมาธิส่วนตัวและสมาธิของทีม

     สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมนั้นก็ขาดไม่ได้ มีสิ่งรอบตัวมากมายที่มีอิทธิพลต่อความคิดทีมงานเยอะแยะ ทั้งอิทธิพลที่ดีและไม่ดี

     บางครั้งคำแนะนำที่มีประโยชน์ก็มีมาก แต่ไม่มีประโยชน์ก็มีไม่น้อยเช่นกัน และนั่นส่งผลให้เราต้องปรับสมดุลของปัจจัยสุดท้าย นั่นคือ “อัตตา”

     ตั้งแต่ที่เราเสนอความคิดเห็นออกไปในสิ่งที่จะทำ มีคนมากมายแนะนำเนื้อหาและรูปแบบรายการ จนบางครั้งเราก็หลงคิดอยากทำไปเช่นกัน แต่เมื่อมาประมวลดูแล้ว เนื้อหารายการเหล่านั้นกลับแทบไม่แตกต่างจะสิ่งที่เห็นอยู่เป็นประจำในจอโทรทัศน์

     “แล้วเราจะทำไปทำไม” ทุกคนในทีมคิดอย่างนั้น

     ถ้าทำเนื้อหาคล้ายรายการทีวี หรือคนดูอยากให้ทำเหมือนรายการทีวี…ก็ไปดูทีวีสิครับ

     เราไม่ได้หยิ่ง เราไม่ได้มีอัตตาคับตัว แต่เราต้องการ “แตกต่าง” และ “สร้างสรรค์” สิ่งใหม่ๆ บ้าง

     เพราะฉะนั้น จึงมีการพูดคุยและหารือกันมาตลอด ถึงรูปแบบรายการและเนื้อหาโดยรวมของสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ ที่ต้องมีสิ่งที่ไม่เหมือนใครในทางใดทางหนึ่ง

     เราไม่ได้ต้องการแตกต่างจนหลุดโลก ไม่ได้ต้องการฉีกจากเหนือไปใต้ จากขาวเป็นดำ แต่เราแค่เบื่อเส้นทางเดิมๆ เท่านั้นเอง

     เพราะฉะนั้น เมื่อคุณดูรายการต่างๆ ในสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ บางคนอาจจะบอกว่า “ไม่เห็นใหม่เลย” หรือ “ไม่เห็นแตกต่างเลย” แต่บางคนก็บอกว่า “เออ เจ๋งว่ะ ไม่มีรายการทีวีแบบนี้แน่ๆ” หรือ “ทำรายการแบบนี้ไปเรื่อยๆ นะ เพราะทีวีไม่มีให้ดูเลย” ซึ่งเราก็ยอมรับความคิดเห็นทั้งสองแบบ

     เนื่องจากเราเชื่อว่า “ไม่มีอะไรใหม่ 100%” เราไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่ๆ แต่เราต้องการสร้างนวัตกรรม เอาสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดให้แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งความใหม่หรือไม่ใหม่นั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และภูมิหลังของคนดู

     บางคนซึ่งเคยเห็นมาแล้ว ก็อาจบอกว่าไม่ใหม่ บางคนไม่เคยเจอมาก่อนก็บอกว่าใหม่…นานาจิตตัง

     อย่างรายการเพลงโอลดีส์ ซึ่งเป็นรายการนำเสนอความน่าสนใจของเพลงโอลดีส์ แนะนำอัลบั้มที่หายาก รวมถึงพูดคุยกับปรมาจารย์ในวงการเพลงโอลดีส์ นี่ก็ไม่ใช่รูปแบบรายการใหม่เอี่ยมอ่อง มีรายการเพลงที่ประกอบด้วยประเด็นเหล่านี้เยอะแยะ แต่เนื้อหาต่างหากที่ไม่เหมือนใคร

     คุณจะหารายการเพลงโอลดีส์ดูได้ที่ไหนในทีวี ในต่างประเทศคงมี แต่เมืองไทยคงเป็นแค่ความฝัน นี่ยังไม่รวมถึงตัวพิธีกรเอง ที่เราแตกต่างด้วยการจับคนที่ไม่เคยเป็นพิธีกรมาก่อนเลยในชีวิต มาทำหน้าที่นี้ และเธอใหม่มากกับวงการสื่อ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องการ

     ดังนั้น รายการส่วนใหญ่ของสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ จะประกอบไปด้วยผู้ดำเนินรายการ พิธีกร นักข่าว และอีกหลายๆ ตำแหน่ง ที่มีความสด ใหม่ และมาจากหลากหลายอาชีพ ซึ่งเราเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เปิดมุมมองที่คิด ที่เห็น และที่จะเป็นไปด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะเราเชื่อว่าคนเหล่านี้มีมุมมองที่แตกต่างจากพิธีกรมืออาชีพ นักข่าวมืออาชีพ และคนในวงการทีวีมืออาชีพ

     สุดท้ายแล้ว เราไม่คาดหวัง “คนดูทีวี” ให้ชอบเนื้อหารายการของเรา

     แต่เราคาดหวังให้คนที่เปิดใจกว้างในการรับสิ่งใหม่ๆ ได้พบเห็นและอินไปกับเราต่างหาก

     ที่นี่ที่เดียว

     www.sukiflix.com

     ากเรื่องระบบเว็บไซต์ที่มีปัญหาจุกจิกมากมายแล้ว มาถึงเรื่องงานผลิต หรือ production ซึ่งก็มีเรื่องวุ่นวายไม่แพ้กัน

     เริ่มจากกล้องวีดีโอ ซึ่งเราต้องคิดล่วงหน้าเลยว่าสเป็คกล้องแบบไหน ที่จะให้คุณภาพออกมาได้ดีที่สุดและสามารถรองรับงานในอนาคตได้ จะเอาความละเอียดแบบไหนดี ธรรมดาหรือ Hi-Definition จะเอา Mini-DV หรือ Hard Disk ดี จะเอายี่ห้ออะไรดี

     เพราะฉะนั้น เมื่อสำรวจตลาดออกมาเป็นที่เรียบร้อย จากการตระเวนดูกล้องหลายต่อหลายยี่ห้อ ก็ตกลงปลงใจที่กล้องแบบ Hi-Def และใช้ Hard Disk เพราะหนึ่ง…เราทำคุณภาพแบบไฮเอนด์เพื่อให้คลิปรายการมีสีสันที่สดใสและความละเอียดสูง สูงจนกระทั่งเอาขึ้นจอทีวีแบบ Hi-Def ดูได้เลย

     สอง…เราใช้ Hard Disk เพราะไม่ต้องการเปลืองค่าใช้จ่ายกับเทป Mini-DV เนื่องจากเทป Mini-DV แพง และใช้ซ้ำแทบไม่ได้เลย คุณภาพจะตกต่ำไปมากโข จึงไม่คุ้มกับการทำงานจริง ถึงแม้ภาพที่ได้จะชัดมากก็ตาม

     นอกจากนี้ ยังต้องดูเซนเซอร์รับภาพด้วยว่าเป็นแบบไหน CCD หรือ CMOS ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น CCD สีสันดีกว่า แต่ CMOS ประหยัดพลังงานมากกว่า เป็นต้น ส่วนไฟล์ที่ออกมาหลังจากถ่ายเสร็จก็เป็นอีกปัจจัยในการเลือก บางยี่ห้อได้ไฟล์เป็น mp4 บางยี่ห้อก็ได้เป็น mp2

     ผมก็เพิ่งมารู้เรื่องราวที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องรู้ก็คราวนี้แหละครับ ต้องมานั่งศึกษากันทุกเรื่อง รายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เพราะทุกอย่างจะมีผลตามมาและต้องมานั่งตามแก้กันไม่จบหากเลือกผิด

     และที่ตลกก็คือ เมื่อซื้อกล้องมาอย่างไฮโซ คุณภาพสูงส่ง ขนาดที่ว่าทำหนังดีวีดีขายได้เลย ชัดกว่าดีวีดีด้วยซ้ำ แต่ปรากฎว่าเมื่อนำไปทดลองถ่ายมาเรียบร้อย คอมพิวเตอร์ที่ใช้ตัดต่อกลับรองรับไม่ไหว เพราะไฟล์ Hi-Def มีขนาดใหญ่มโหฬาร

     ขนาดเครื่องคอมฯ ที่นาย justtalky ใช้อยู่นั้น มีสเป็คที่สูงพอที่จะตัดต่องานที่ถ่ายมาเป็นประจำได้อย่างปกติสุขอยู่แล้ว แต่เมื่อเจอกล้องไฮโซเข้าก็นิ่งไปเลย ภาพกระตุกจนตัดต่อไม่ได้

     ทันทีที่ผมรู้ข่าวนี้จาก justtalky ทำเอาหนาวไปพักใหญ่ เพราะถ้าซื้อกล้องมาถ่ายแล้วตัดต่อไม่ได้ ถึงขั้นต้องซื้อคอมใหม่เนี่ย เสียเงินอีกมิใช่น้อยเลยครับ

     ทางออกก่อนที่จะซื้อคอมก็คือ หาการ์ดจอใหม่ หาโปรแกรมมาลง ฟอร์แมตเครื่องใหม่ คือเรียกว่าทำมันทุกอย่างจนกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว ค่อยซื้อคอมใหม่

     นาย justtalky ทำอย่างนี้อยู่หลายสัปดาห์ จนในที่สุดก็สามารถทำให้คอมตัวที่มีอยู่นี้ตัดต่องานได้สำเร็จ แบบลื่นไหลโดยไม่ต้องซื้อคอมใหม่

     justtalky บอกว่าจากนี้ไปเขาว่าจะเปิดร้านซ่อมคอมแล้วล่ะ…เอากะมันสิ

     ยังไม่หมด! เมื่อถ่ายงานมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัดต่อแล้ว การจะเอางานลงเว็บได้ ก็ต้องมาผ่านกระบวนการทดสอบคลิป เพื่อให้ได้คลิปที่มีคุณภาพสูงสุด ในขณะที่เวลาการดาวน์โหลดต่ำที่สุด

     ครั้งแรกๆ เอางานที่สุดยอดมาลง ปรากฎว่าโหลดเป็นชั่วโมง คลิปยังไม่ขึ้นเลย อย่างนี้คนคงไม่อดทนรอดูแน่ๆ ก็ต้องแยกไฟล์ให้คนเลือกดู ระหว่างดูผ่านเว็บและดาวน์โหลดลงคอมก่อน แล้วค่อยดูทีหลัง

     ไฟล์ที่ดูผ่านเว็บก็มีคุณภาพลดลงมาหน่อย ทั้งความละเอียดของภาพและคุณภาพเสียง ส่วนไฟล์สำหรับดาวน์โหลดก็จะมีคุณภาพดีกว่า ภาพชัดกว่า เสียงใสกว่า ให้คนดูเลือกได้ตามใจชอบ

     หลังจากนั้นก็เปิดให้เพื่อนบางคนเข้ามาทดสอบการดูคลิปกันว่า การดาวน์โหลดช้าเร็วแค่ไหน คุณภาพของภาพและเสียงเป็นอย่างไร ฯลฯ ส่วนใหญ่บอกว่าทำไมต้องรอนานจัง กว่าจะดูคลิปได้

     ครับ…ขอบอกตรงนี้ว่า “อยากดูของดี ต้องใจเย็นๆ” เพราะถึงแม้ไฟล์ที่ดูผ่านเว็บจะเล็กกว่าไฟล์คลิปสำหรับดาวน์โหลด แต่คุณภาพที่เราทำนั้นก็ยังสูงกว่าคลิปทั่วไป ทั้งเรื่องภาพและเสียง เพราะฉะนั้น อยากให้รับรู้ตรงนี้เลยครับว่าคุณจะรอคลิปนานกว่าเว็บทั่วไป แต่ไม่นานถึงขั้นน่าเบื่อ

     วิธีการแก้เซ็งระหว่างรอคลิปก็คือ กด play บนจอ เสร็จแล้วก็ทำอย่างอื่นไปก่อน จะเช็คเมล อ่านข่าว ดูเว็บนู้นเว็บนี้ ไปพลางๆ ก่อนก็ได้ เมื่อภาพบนจอปรากฎก็ไม่ต้องไปตั้งหน้าตั้งตาคอยมาก เพราะขณะนั้นคลิปจะดาวน์โหลดไปด้วย เล่นไปด้วย จึงมีการกระตุกเป็นช่วงๆ ผมจึงแนะนำให้กด pause ไปก่อน เพื่อให้คลิปดาวน์โหลดให้เสร็จทีเดียวไปเลย แล้วค่อย play ดูใหม่อีกครั้ง

     ส่วนถ้าใครอยากดูไฟล์ที่คุณภาพสูง ก็คลิก download ใต้จอ แล้วก็ทิ้งไว้เลย ไปทำธุระอะไรได้ตามสะดวก เพราะงานนี้รับประกันว่านานแน่ ไฟล์ใหญ่หลายสิบเม็ก แต่ก็เหมือนคุณดาวน์โหลดเพลงหรือหนังนั่นแหละครับ ก็ดาวน์โหลดไป นั่งทำงานไป ไม่เสียเวลาอะไรเลย

     ที่สำคัญ…ผมแนะนำให้ใช้ adsl ครับ อย่าไปใช้เลย โมเด็ม 56 k น่ะ นอกจากจะเสียเวลาทำมาหากินแล้ว ยังต้องเสียค่าโทรศัพท์ทุกครั้งที่ต่อเน็ตด้วย เดี๋ยวนี้ราคา adsl ก็ไม่แพงเกินไปแล้ว ความเร็ว 256 kbps ประมาณเดือนละ 500 บาท บางยี่ห้อถูกกว่านี้ด้วยซ้ำ

     ลองดูสิครับ แล้วจะรู้ว่าอะไรๆ ในชีวิตมันมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกเยอะ

(ไว้มาต่อครับ)

     ารจะทำให้เว็บไซต์เป็นมัลติมีเดีย ไม่ยาก ถ้ามีเงิน

     ยิ่งถ้าคุณรวยเหมือนทักษิณ ก็ยิ่งบันดาลอะไรได้ตามใจปรารถนา อย่างกรณีเว็บไฮทักษิณ เขาจะสร้างเว็บให้เป็นเหมือนทีวีเลยก็ได้ ดูรายการ ดูแถลงการณ์ ดูสัมภาษณ์ ดูอะไรต่อมิอะไร ได้ลื่นไหล แถมชัดกว่าทีวีทั่วไปเสียด้วยซ้ำ หากจอคอมพิวเตอร์ของคุณมีความละเอียดสูงพอ

     เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำได้เกินกว่าที่คุณคิดแล้ว แต่คนยังไม่ค่อยรับความเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างจากสมัยก่อนที่คนยังยึดติดกับน้ำมันสารตะกั่ว กว่าจะให้คนเปลี่ยนมาใช้ไร้สารตะกั่วก็ยากแสนเข็ญ ทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องแก๊สโซฮอล์ที่คนยังไม่เชื่อเทคโนโลยีการผลิต แต่อีกหน่อยก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป

     เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้คนยังติดทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์อยู่ เพราะเป็นสื่อที่มีอายุมาอย่างยาวนาน และจะคงมีอยู่ต่อไป แต่ความนิยมจะลดลงเรื่อยๆ เพราะเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาตอบสนองความต้องการของคนได้ดียิ่งขึ้น และพฤติกรรมของคนที่บริโภคสื่อจะเปลี่ยนไปในที่สุด

     คำว่า “Prime Time” จะไม่สำคัญอีกต่อไป

     ครั้งแรกที่ผมเห็นเว็บไซต์มัลติมีเดียในต่างประเทศ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เพราะไม่ว่าใครก็สามารถตั้งสถานีโทรทัศน์ได้ ไม่ต้องพูดถึงสถานีวิทยุออนไลน์ เพราะนั่นเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแล้ว

     ความคิดแวบแรกคือ ต่อไปนี้ใครอยากมีสถานีโทรทัศน์ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งเต้นขอสัมปทานกับรัฐบาล ไม่ต้องทำตามกฎระเบียบอันยุบยับ และถ้าทำผิดสัญญาก็ไม่ต้องถูกยึดช่องคืนให้แก่รัฐด้วย (ไม่ได้กระทบกระเทียบใครจริงๆ นะ)

     ผมเริ่มหาข้อมูลและรายละเอียดมากมาย ลองเปิดดูเว็บต่างประเทศหลายเว็บ ก็มีหลากหลายจริงๆ เรื่องข้อมูลจึงเป็นเรื่องเล็กในปัจจุบัน เพราะหาที่ไหนก็ได้ แต่ที่ยากคือหาทีมงานครับ

     อย่างที่บอกว่าความคิดที่จะทำเว็บประเภทนี้ สำหรับผมมีมานานแล้ว แต่เวลานั้นขาดคนที่จะมาร่วมทีมด้วย เพราะเหตุผลหลายอย่าง เอาไว้จะค่อยๆ เล่าไปแล้วกันนะครับ ซึ่งในที่สุดผมก็เจอบล็อกของคนๆ หนึ่งเข้า เขาใช้ชื่อว่า justtalky

     เป็นคนที่เขียนบล็อกอยู่ใน wordpress.com เช่นเดียวกัน เขาเข้ามาคอมเมนท์ในบล็อกผมที่ wordpress อยู่ประปราย วันดีคืนดีผมก็เข้าไปอ่านในบล็อกเขาบ้างเช่นกัน

     และแล้ววันหนึ่ง ผมได้ย้อนกลับไปดูบทความเก่าๆ ของเขา ก็พบว่ามีคลิปวีดีโอให้ดู เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับแท็กซี่หน้าสยามที่ไม่ค่อยจะรับผู้โดยสาร เขาให้เพื่อนอีก 2 คน เป็นคนเดินเรื่อง และทดลองเรียกแท็กซี่ ก็ปรากฎว่าแท็กซี่ไม่รับจริงๆ และเรียกอยู่เป็นชั่วโมง ไม่มีคันไหนรับเลย

     คลิปที่สองชื่อว่า bedroom documentary ตัวเขาเป็นพิธีกรเอง โดยนั่งอยู่ในห้องนอนและพูดอะไรเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับห้องนอนของเขา ไปจนถึงชีวิตส่วนตัวแบบไร้สาระ

     คลิปแรกดูเป็นแนวข่าว คลิปที่สองไร้สาระ แต่ทั้งสองคลิปน่าสนใจมากในแง่ความแตกต่างจากสิ่งที่เคยเห็นในทีวี เพราะผมอยากรู้ว่าไอ้หมอนี่มันจะพูดอะไรของมันอยู่หน้าจอคนเดียวทำไมในห้องนอน และไอ้หมอนี่จะถือกล้องถ่ายแท็กซี่หน้าสยามทำไม กะอีแค่มันไม่รับผู้โดยสาร ซึ่งที่ไหนๆ ก็เกิดขึ้นได้

     ที่สำคัญ ไอ้หมอนี่ถ่ายทำจริงจัง ถึงขั้นเอาสิ่งที่ถ่ายได้ไปตัดต่อ ทำไตเติ้ล ใส่เอฟเฟ็ค และเขียนเรื่องประกอบ

     “เจอแล้ว”…ผมบอกตัวเองในใจ

     ผมรีบอีเมลไปหาเขา พร้อมกับบอกสิ่งที่ตัวเองคิดมานานและสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งเขาก็บอกผมเช่นกันว่า เขากำลังคิดที่จะทำแต่ยังหาคนร่วมทำไม่ได้เหมือนกัน

     หลังจากนั้น ผมกับ justtalky ก็วางแผนงานกันว่าระบบเว็บไซต์สำหรับมัลติมีเดียควรจะเป็นแบบไหน โครงสร้างจะเป็นอย่างไร theme และ template ควรมีหน้าตาประมาณไหน ทุกอย่างมีรายละเอียดและที่มาที่ไป

     ประเด็นสำคัญคือ เราไม่มีเงินถุงเงินถังแบบทักษิณอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างในการทำเว็บนี้ต้องคุ้มค่าที่สุด ภายใต้งบประมาณจำกัด

     เริ่มจากระบบเว็บ เราเลือกที่จะใช้ open source ของ wordpress ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ เพียงแต่เราต้องมีโดเมนและโฮสติ้งเป็นของตัวเอง เพราะไม่ต้องการให้ชื่อเว็บห้อยด้วยนามสกุลใดๆ ยกเว้น .com

     การเลือกโฮสติ้งก็ต้องมาเลือกว่า จะใช้โฮสติ้งของไทยหรือต่างประเทศดี ข้อดีข้อเสียแตกต่างกันมากมาย ตั้งแต่ความมั่นคงและชื่อเสียงของบริษัทโฮสติ้งเอง ราคา bandwidth และความปลอดภัยของข้อมูล

     เลือกอยู่หลายเจ้า เป็นอันตกลงว่าเราใช้โฮสติ้งยี่ห้อหนึ่งในต่างประเทศ เหตุผลคือ “คุ้มค่าโคตรๆ” เพราะให้เนื้อที่ 150 GB และเพิ่มให้ 1 GB ทุกสัปดาห์ ขณะที่ bandwidth ให้สูงถึง 1.5 TB และเพิ่มให้ 16 GB ทุกสัปดาห์เช่นกัน

     ทั้งหมดนี้ด้วยราคาปีละ 700 กว่าบาท เมื่อเทียบกับโฮสติ้งในเมืองไทย สเป็คขนาดนี้ เดือนหนึ่งอาจต้องจ่ายหลายพันบาท

     เมื่อเราได้โดเมน โฮสติ้ง และระบบเว็บแล้ว นาย justtalky ก็แนะนำเว็บมาสเตอร์มือทองมาร่วมงานอีกคน เป็นคนที่เขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่องไอทีใน wordpress.com เช่นกัน เขาชื่อ gooogolf

     นายคนนี้ฝีมือขั้นเทพ อยากได้แบบไหน เขาทำได้หมด แม้จะต้องใช้เวลาศึกษาบ้างก็ตาม (แหะๆ) เพราะฉะนั้น ระบบเว็บของสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ จึงอยู่ภายใต้การดูแลของ gooogolf เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผมและ justtalky ดูเรื่อง production และ content เป็นหลัก

     ระบบเว็บของ wordpress นั้น ถึงแม้จะเป็น open source ที่มีให้ใช้ฟรี แต่ก็ต้องมาปรับแต่งอะไรอีกมากมาย ต้องหา plug in มาเสริมสมรรถภาพกันเยอะแยะไปหมด กว่าจะใช้งานได้อย่างลื่นไหล เพราะระบบเริ่มต้นให้มาเหมือนมีแต่โครงสร้างเท่านั้น

     template ก็เช่นกัน กว่าจะสรรหามาให้เหมาะกับ theme ของเว็บ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ “ต้องใช้งานง่าย” สองคือ “สวยงาม”

     เราพยายามหา template ที่ใช้ง่าย สะอาดตา ไม่รกรุงรัง รวมถึงสีต้องเหมาะกับพฤติกรรมการดูคลิปวีดีโอ ซึ่งเราพบว่าสีที่เหมาะที่สุดคือสีเข้มมากๆ เช่น สีดำ เทาเข้ม น้ำเงินเข้ม น้ำตาลเข้ม เพราะสีเหล่านี้จะช่วยขับเน้นสีอื่นๆ ให้ชัดและดูดียิ่งขึ้น และมีความรู้สึกเหมือนเรากำลังดูจอในโรงหนัง

     แต่กว่าจะเลือก template ได้ เราต้องทดสอบอีกหลายอย่าง เพราะบางครั้งชอบ template นี้มาก เหมาะมาก แต่เมื่อทดสอบคลิปแล้ว ใช้ไม่ได้ บางทีใส่คลิปคงไป คลิปไม่ทำงานบ้าง จอภาพแหว่งบ้าง พื้นที่ไม่พอใส่จอบ้าง plug in เวอร์ชั่นใหม่บางตัวใช้ร่วมกับคลิปวีดีโอไม่ได้ ฯลฯ

     เรียกว่ากว่าจะหา template ที่ใช้งานง่าย สวยงาม และ compatible กับการแสดงผลของคลิปวีดีโอได้นั้น ก็เสียเวลาไปมากกว่าที่คิดทีเดียว

     นี่แค่ระบบเว็บนะครับ ยังมีเรื่อง production และ content อีก ที่ผมและ justtalky ต้องมานั่งปวดกบาลกับปัญหามากมาย

(ไว้มาต่อครับ)

     ถานีอินเทอร์เน็ต ที่ผมว่าไว้คราวก่อน อาจทำให้บางคนคิดว่า “ไม่เห็นจะแปลกใหม่อะไรเลย สถานีโทรทัศน์หลายแห่งเขาก็ทำกันตั้งเยอะแยะแล้ว มีเนื้อหาหลากหลายด้วย”

     จริงครับ เขาทำมากันเยอะแล้ว แต่ความหมายของ “สถานีอินเทอร์เน็ต” ที่ผมว่าไว้นั้น ไม่ใช่การนำรายการที่ออกอากาศในโทรทัศน์มาฉายซ้ำในช่องทางอินเทอร์เน็ต

     นั่นก็หมายความว่า เราผลิตรายการขึ้นมาเองเพื่อออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต โดยนำเสนอแบบ on-demand และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนี้ รายการที่เราผลิตสามารถนำเสนอผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ ได้ด้วย เช่น เครื่อง mp3 อย่าง ipod หรือ portable pc หรือแม้กระทั่งทีวี ผ่านระบบ iptv หรือผลิตภัณฑ์โคตรฉลาดของ apple นั่นก็คือ apple tv

     เพราะฉะนั้น กระบวนการที่สถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ดำเนินการ จึงถือเป็น reverse process ที่สร้างสรรค์งานจากสื่อทางเลือกอย่างอินเทอร์เน็ตไปสู่สื่ออื่นๆ ได้อย่างไม่จำกัด ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอย่างโทรทัศน์

     อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก เพราะอันที่จริงในต่างประเทศมีเว็บไซต์ทำนองนี้อยู่ไม่น้อย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในเมืองไทยเองยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะมีเว็บไซต์คล้ายๆ อย่างนี้อยู่ไม่เกิน 5 เว็บเท่าที่ผมรู้จัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ไอที บันเทิง เป็นต้น

     และนี่เป็นเหตุผลที่ผมเรียกเว็บไซต์ที่กำลังปลุกปั้นนี้ว่า “สถานีอินเทอร์เน็ต” ก็เพราะที่นี่จะเป็นเหมือนสถานีผลิตรายการที่หลากหลาย เหมือนสถานีโทรทัศน์ที่มีทั้งรายการข่าว บันเทิง กีฬา ท่องเที่ยว สารคดี วาไรตี้ เกมโชว์ มิวสิควีดีโอ การ์ตูน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะเน้นเนื้อหาส่วนใดเป็นหลัก

     สถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ เน้นรายการที่ “แตกต่าง” เป็นหลักครับ

     หมายความว่าเราไม่จำกัดความหลากหลายของรายการ แต่เราจำกัดความสร้างสรรค์ของรายการ ถ้ารายการแบบไหนที่ “สร้างสรรค์” และ “แตกต่าง” ไม่ว่ารายการนั้นจะเป็นข่าว บันเทิง หรือเกมโชว์ เราก็จะนำเสนอสู่สายตาของผู้ชม

     และอย่าคาดหวังว่ามันจะเป็นรายการที่มี production อลังการงานสร้าง หรือมีกราฟฟิคที่สวยงามราวกับงานศิลป์บนหน้าจอ ถ้าคิดอย่างนั้น คิดใหม่ครับ

     เพราะเราไม่เน้นภาพลักษณ์ แต่เราเน้นสไตล์

     เรามีสไตล์การจัดรายการแบบเป็นกันเอง แม้จะเป็นรายการข่าวหรือสารคดี ก็ไม่ต้องมานั่งใส่สูท ผูกไท ทำหน้าเคร่งเครียดราวกับจะกินเลือดกินเนื้อคนดู เราอาจจะหัวเราะจนข่าวซีเรียสกลายเป็นข่าวตลกขบขัน หรือข่าวไร้สาระกลายเป็นข่าวจริงจังก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคม

     ผู้ดำเนินรายการก็ไม่ต้อง professional ไม่ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมพิธีกรใดๆ มาทั้งสิ้น จะเป็นใครก็ได้ ที่พูดจารู้เรื่องและอยากแสดงออก เราให้โอกาสนั้นกับทุกคน

     เพราะฉะนั้น เมื่อใครก็ตามที่เข้าไปชมรายการในสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้ จะพบว่าผู้ดำเนินรายการอยู่ใกล้ชิดกับคุณมาก

     ไม่ได้หมายถึงระยะทาง แต่หมายถึงระยะใจ

     ความรู้สึกจะเหมือนคนในจอก็มนุษย์ธรรมดาๆ นี่แหละ เขาไม่ใช่เซเล็บ ดารา หรือไฮโซ อะไรเลย คุยกันเหมือนเพื่อนในกลุ่มมานั่งเล่าอะไรให้ฟัง มาบอก มาเสนอแนะ มาเฮฮากันเป็นประจำ

     นี่คือหลักคิดอันสำคัญของ “สถานีอินเทอร์เน็ต” แห่งนี้ ฟังดูง่ายๆ สบายๆ แต่กว่าที่จะทำให้มันออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้นั้น…

     …แทบร้องไห้ครับ

(ไว้มาต่อครับ)

     ายไปพักใหญ่ครับ เนื่องจากชีวิตมีภารกิจมากมายที่ต้องสะสางให้สำเร็จ จนถึงวันนี้พบว่าบางอย่างได้คลี่คลายลง แต่บางอย่างกลับขมวดปมอยู่อย่างนั้น และสร้างความผิดหวังพอสมควร

     ช่วงเดือนสองเดือนมานี้ ผมมีโอกาสนำไอเดียที่คิดมานาน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง มาปัดฝุ่นเสียใหม่ เพราะผมพบว่าความไม่พร้อมเหล่านั้น น่าจะพอมองข้ามไปได้

     ไม่มีอะไรพร้อม 100%…ผมคิดอย่างนั้น

     หากเราจะรอให้อะไรๆ ในชีวิตถึงพร้อม 100% เราคงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ผมคิดว่าเราพร้อมสัก 70-80% ก็น่าจะพอแล้ว อีก 20-30% ที่เหลือก็ไปเสี่ยงเอา

     อันที่จริง บางครั้งความพร้อมแค่ 50% ผมก็เอาแล้ว

     สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีคนที่เห็นด้วยกับผมอีก 2 คน เพื่อปลุกปั้นกับภารกิจชิ้นนี้ให้สำเร็จ นั่นก็คือการเป็นสื่อมัลติมีเดียในอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์

     การทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิง ผ่านระบบมัลติมีเดีย ที่มีทั้งตัวอักษร เสียง และภาพ ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่แค่เสียงและภาพนิ่งแยกกัน ผมหมายถึง “ภาพเคลื่อนไหว” หรือ “วีดีโอ” นั่นเอง

     นี่คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคลิปวีดีโอบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีมานานแล้ว แต่เป็นคลิปวีดีโอทั่วๆ ไป ที่มีเนื้อหาสะเปะสะปะ ไม่เป็นเอกภาพมากนัก หากจะบอกว่าการจัดหมวดหมู่ของสิ่งใดเป็นการทำให้ดูเรียบร้อยขึ้น นั่นไม่ใช่ความหมายของผม

     การเป็นเอกภาพและไม่สะเปะสะปะนั้น น่าจะครอบคลุมถึงการทำให้เป็นรูปแบบที่จริงจัง มีแนวคิดที่สร้างสรรค์ และวางระบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มิใช่การนำเนื้อหาอะไรก็ได้มาทำเป็นคลิปวีดีโอ แล้วก็มานำเสนอผ่านโลกอินเทอร์เน็ต

     เราจึงเห็น youtube และเว็บไซต์ฝากคลิปวีดีโอที่คล้ายๆ กันอีกมากมายในโลก ซึ่งก็ไม่ได้หนีกันสักเท่าไหร่ในเนื้อหาและรูปแบบ

     แต่ผมอยากเห็นการผสมผสานของความเป็นสื่อหลัก อย่างทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ กับความเป็นสื่อรอง (ณ ปัจจุบัน) หรือสื่อทางเลือก อย่างอินเทอร์เน็ต เข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดี ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจุดแข็งของแต่ละสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

     นั่นก็หมายความว่า ผมอยากเห็นเว็บไซต์ที่เปิดเข้าไปแล้ว เหมือนคุณอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ และดูทีวี อยู่ในนั้นเลย แต่ส่วนผสมของแต่ละอย่างจะมากน้อยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความเป็นไปของโลก ซึ่งต้องยอมรับว่าสื่อทีวีเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่มีอายุยาวนานมากที่สุด ส่วนสื่อวิทยุมีความรวดเร็วมากที่สุด

     และ…สื่ออินเทอร์เน็ต สามารถรวมความที่สุดของสื่อเหล่านั้นเข้าด้วยกันได้ แต่ยังต้องปรับแต่ง และโมดิฟายกันอีกสักหน่อย กว่าที่จะทำให้ความที่สุดของทุกสื่อแสดงศักยภาพได้เต็มที่

     นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำ

     ไม่ใช่ “สถานีโทรทัศน์” แต่เป็น…

     “สถานีอินเทอร์เน็ต”

    

     (ไว้มาต่อครับ)

     “ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไร จะไม่มีการออกมาประท้วงคำตัดสินและแสดงพลังอะไรทั้งสิ้น เพื่อให้ทุกคนเห็นจุดยืนของพรรคว่าได้มีการต่อสู้อย่างสันติ แม้ในกรณีที่ผลการตัดสินจะยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดก็ตาม เราก็ยังคงยืนยันว่าพรรคมีทางออกแน่นอน”

www.manager.co.th    นี่คือคำพูดของ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ให้สัมภาษณ์ก่อนตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี

     คนที่ไม่มีอคติจนเกินไป อ่านแล้วก็คงบอกได้นะครับว่า พฤติกรรมของนักการเมืองรายนี้ “ปลิ้นปล้อน” ขนาดไหน หัวหน้ากลุ่มยังขนาดนี้ ลูกน้องจะขนาดไหน อย่าหาว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลยครับ เพราะที่ผ่านมาถือว่าผมโง่ที่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป

     สาบานต่อหน้าแป้นคอมพิวเตอร์ว่าจะไม่โง่อีกแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อ มันอยู่ที่ตรงนี้ครับ

     “การถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี”

     อ่านซ้ำอีกกี่ทีก็รู้สึกเหมือนเดิมทุกครั้งไปว่า การถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี มันหนักหนาสาหัสนักหรืออย่างไร มันจะตายหรืออย่างไรถ้าไม่ได้เล่นการเมืองเสีย 5 ปี

     ไม่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตก็บุญแค่ไหนแล้วกับโทษที่สาหัสสากรรจ์ขนาดนั้น ทั้งการจ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และการแก้ไขฐานข้อมูลคุณสมบัติผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

     หากเป็นพระถูกจับสึก ก็บวชไม่ได้อีกแล้วตลอดชีวิต นี่แค่ 5 ปี พวกเขาเหล่านี้ก็สามารถกลับมาเข้าสู่วงจรอุบาทว์ได้ใหม่ มันจะโอดครวญไปหาพระแสงของ้าวอะไรกัน

     ปากก็พล่ามบอกประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตย และได้เสียงประชาชนมาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วนี่คือคำตอบสำหรับประชาชนที่ไปลงคะแนนให้คนเหล่านี้ใช่หรือไม่ ยังไม่นับรวมถึงสิ่งที่อดีตหัวหน้าพรรค ทักษิณ ชินวัตร พร้อมพรรคพวกได้ก่อการทุจริตเอาไว้อีกหลายต่อหลายเรื่องนะครับ

     ขนาดนี้แล้ว ยังมีเหตุมีผลไม่เพียงพอที่จะยุบไปทั้งพรรคและตัดสิทธิเสีย 5 ปีอีกหรือ

     ขณะที่การตัดสิทธิทั้ง 111 คน ก็ไม่ใช่ประเด็น ไม่ใช่เรื่องของจำนวน เพราะจะถูกตัดสิทธิพันคน หมื่นคน ก็ไม่ใช่ประเด็นหากคนเหล่านั้นผิดจริง แต่ประเด็นคือเวลา 5 ปีต่างหาก ถ้าถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ค่อยมาตีโพยตีพายก็คงจะมีคนสงสารอยู่บ้าง

     แต่นี่แค่ 5 ปีเท่านั้น หายใจทิ้งไปวันๆ แป๊บเดียวก็หมดแล้ว เพราะบางคนอยู่ในสภาก็ทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากที่ว่าสักเท่าไหร่

     คนที่อยู่ร่วมพรรคเดียวกัน ตอนก่อตั้งพรรคก็มีอุดมการณ์ มีเจตนารมณ์ เฉกเช่นเดียวกันอยู่แล้ว ถ้าใครเถียงว่าเพิ่งเข้ามาหลังจากก่อตั้งพรรค ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องทำตามแนวทางของพรรคอยู่ดี จะบอกว่าไม่รู้ว่าพรรคนี้มีแนวทางอย่างไรไม่ได้ เป็นถึงกรรมการบริหารพรรค คุณจะปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น ถามหน่อยครับว่า คุณเป็นหมาหัวเน่าหรืออย่างไร ไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลยหรือไง เพื่อนๆ กรรมการคนอื่นคงจะเฉดหัวส่งไปนานแล้ว

     จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่รู้ไม่เห็น ทำไมต้องโดนด้วย ทำไมน่ะหรือ…ก็เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค พวกคุณไม่ต้องมีการประชุม มีการพูดคุยกัน มีการเสวนากัน มีกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีเรื่องเหล่านี้เลยหรืออย่างไร หากเป็นเพียงสมาชิกพรรค แล้วบอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ไม่เห็น ก็ยังพอฟังขึ้น แล้วในเมื่อพวกคุณลงเรือลำเดียวกันแล้ว ไม่แสดงสปิริตรับผิดชอบร่วมกันเลยหรือ

     น่าสมเพชเหลือเกินครับwww.thaimisc.com

     คงโทษใครไม่ได้ครับ ต้องโทษที่ตัวเราเองที่ดันหลงเชื่อคนประเภทนี้ให้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในสภาได้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องมันผ่านไปแล้ว หากประชาชนคนใดยังหลงเชื่ออีก ขอให้กลับไปอ่านย่อหน้าแรก…คำพูดของ จาตุรนต์ ฉายแสง

     ถ้าคุณอ่านแล้ว ยังคิดว่าเขาเป็นคนดี มีสำนึก ผมก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เวลาใครถามว่าคนไทยเป็นเช่นนี้หรือ ผมคงรีบแทรกแผ่นดินหนีแทบไม่ทัน

     นอกจากนี้ การออกมาประท้วงด่าทอตุลาการรัฐธรรมนูญว่าเป็น 9 ตุลาการเถื่อน ก็ได้ประจักษ์ชัดว่าคนเหล่านี้สันดานคด ดีแต่ประชดประชัน จำชื่อไว้ให้แม่น…“สมยศ พฤกษาเกษม” พร้อมกับกลุ่มแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.)

     แล้วยังมีกลุ่มพีทีวี กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่ม…อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ที่สรรหาชื่อมาตั้งกัน แต่สุดท้ายมันก็มีจุดหมายเดียวกัน ในที่สุดก็เลิกเป็นอีแอบ เปิดเผยตัวเสียทีว่ามันคือพวกเลียแข้งอำนาจเก่านั่นเอง

     ทีแรกทำเป็นเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องเสรีภาพสื่อ เรียกร้องมันทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องดีๆ

     ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงอยากถามว่า…

     ถ้าพวกคุณไม่ “เลว” แล้วมันจะมีวันนี้ไหม

     แล้วเมื่อไหร่…พวกคุณจะเลิก “ระยำ” กันเสียที?

    ในที่สุด…พรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบพรรคแล้วครับ!!!

     และกรรมการบริหารพรรค “ทุกคน”

     ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี !!!

     ที่ต้องติดตามกันต่อไปหลังจากนี้ คือ บรรดากรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคทั้ง 14 ล้านเสียงนั้น จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะนับตั้งแต่วันนี้ไป การเมืองไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนกลับ อย่างน้อยก็เป็นเวลา 5 ปี

     คำถามคือ พรรคการเมืองใดจะมาเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองของไทยในวาระต่อไป ที่เห็นอยู่ขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้น…พรรคประชาธิปัตย์เป็นแน่แท้

     และที่แน่ๆ นี่เป็นเวลาของรัฐบาลผสม ซึ่งพรรคชาติไทย พรรคมหาชน พรรคประชาราช ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย

     ส่วนกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ และเตรียมจะตั้งพรรคใหม่ พร้อมทั้งถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ถูกดับฝันไปแล้วเช่นเดียวกัน

     อย่างไรก็ตาม เสียงที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทย จะย้ายไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด เพราะคะแนนเสียงมหาศาลถึง 14 ล้านเสียง ย่อมมีค่าสำหรับการชิงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย

     หากเสียงเหล่านี้เป็นเสียงบริสุทธิ์ของพรรคไทยรักไทย โดยไม่คิดปันใจไปให้พรรคอื่น แล้วระหว่างนี้พวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป

     จะอยู่อย่างไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหรือ…

     จะอยู่อย่างผู้แพ้อย่างนั้นหรือ…

     น่าคิดนะครับ

     หรือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน พรรคประชาราช หรือพรรคอื่นๆ ที่เตรียมจะเกิดใหม่ คิดจะดึงพลังมวลชนเหล่านี้ของพรรคไทยรักไทยมาอยู่กับตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาเหตุผลมาล่อให้พวกเขาเปลี่ยนใจ ซึ่งก็ไม่น่ายากเกินความสามารถ

     เพราะ 5 ปี ไม่ช้า แต่ก็ไม่เร็ว

     คนเหล่านี้จะอยู่ทนรอให้กลุ่มการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบกลับมาสู่อำนาจได้อย่างนั้นหรือ ไม่แน่นะครับ เพราะบางครั้ง…ความรักก็จืดจางลง

     เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้น

     แต่เรื่องที่น่ากังวลยิ่งกว่า กลับเป็นผู้เล่นที่ถูกปรับแพ้ แต่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้นี่สิ

     บอลแพ้ คนไม่แพ้

     หรือ…ขี้แพ้ชวนตี

     จะมีคนเหล่านี้แฝงอยู่หรือไม่

     ต้องคอยจับตาดูครับ

     ย้อนเหตุการณ์ในช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสายเช่นนี้ มาให้อ่านแก้เซ็งกันครับ เพราะในคืนวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2550 มีสถานการณ์ที่สนุกๆ ปนปวดหัวเกิดขึ้นกับผมหลายเรื่องทีเดียว

     ในช่วงหัวค่ำของคืนนั้น ระหว่างที่ผมนั่งทำงานหน้าคอมฯ อยู่ ก็มีเพื่อนๆ ชาวไซเบอร์ทักทายกันมาเป็นระยะๆ ทาง msn ซึ่งปกติผมจะออนไลน์อยู่แล้วแม้จะเป็นในเวลาที่นั่งทำงานก็ตาม ยกเว้นว่างานนั้นเร่งด่วนจริงๆ ก็จะออฟไลน์ไปเลย

     ประมาณ 2 ทุ่มกว่าถึง 4 ทุ่มนิดๆ ผมคุย msn กับคุณ lost in space, คุณ rainny, และเพื่อนรุ่นน้องของผมอีกคน (3 คนก็ยุ่งตายชักแล้วครับ บางวันปาเข้าไป 5 คน แทบไม่เป็นอันทำงาน) แต่คนที่ทำให้ผมต้องคุยติดพันกันยืดยาว เพราะมีประเด็นที่ต้องถกเถียงโต้แย้งกันเยอะ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน คุณ lost in space คงเอามาโพสต์ให้ได้อ่านกัน

     ช่วง 4 ทุ่มนิดๆ คุณ rainny ขอลาไปนอนก่อน และบอกว่าผมควรจะนอนได้แล้ว ผมก็กำลังจะไปนอนพอดีนั่นแหละครับ เพราะวันรุ่งขึ้น (วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2550) ผมต้องจัดรายการตั้งแต่ 6 โมงเช้า ซึ่งตามปกติต้องตื่นตั้งแต่ตี 4

     แต่ทำยังงั้ยยังไง ก็จบไม่ลงเสียที ประเด็นมันติดพันกับคุณ lost in space เหลือเกิน จนกระทั่งเกือบ 5 ทุ่ม คุณ pen ก็ออนไลน์เข้ามาและทักผมอย่างทันที

     pen: “เฮ้ย ยอด ด่วนๆๆๆๆ”

     ผม: “ราย มีราย” (ถ้าเป็นหนุ่มๆ ผมจะออกแนวรำคาญนิดๆ 555)

     pen: “มีระเบิดที่หาดใหญ่ 7 จุด ตอนนี้ kids อยู่ที่หาดใหญ่ด้วย อัพบล็อกเข้ามาแล้ว”

     ผม: “อะเหรอ ระเบิดอีกแล้วเหรอ”

     pen: “เออๆ เข้าไปดูใน blog เค้าดิ”

     ผม: “เออ ไว้ก่อนเว้ย ง่วงชิบ ไปนอนก่อน ห้าทุ่มกว่าแล้ว พรุ่งนี้ตื่นตีสี่โว้ย”

     แต่ผมก็คลิกเข้าไปดูเว็บของ bangkokbiznews อยู่ดี เพราะอยากรู้ว่ามี breaking news หรือยัง ก็พบว่าพาดหัวสถานการณ์ทันด่วนขณะนั้น อ้างอิงจาก blog ของ kids นั่นเอง

     pen: “เออ ได้ๆ ไปนอนเถอะ”

     ผม: “เฮ้ย เด๋ว เอาเบอร์ kids มา ไว้จะเอาเข้ารายการสัมภาษณ์สด”

     pen: “ตอนนี้เค้าตัดสัญญาณมือถือว่ะ”

     ผม: “สัมภาษณ์พรุ่งนี้เช้าโว้ย”

     pen: “เออ ใช่ๆ โอเค งั้นเด๋ว sms ไปให้”

     ผม: “โอเค บอกเค้าก่อนแล้วกันว่าจะสัมภาษณ์ประมาณ 6-7 โมง ให้เตรียมตัวด้วย”

     แล้วผมก็ไปนอนตอน 5 ทุ่ม 40 นาที

     ตื่นขึ้นมาอีกครั้งประมาณเที่ยงคืนครึ่ง เพราะเสียง message ของโทรศัพท์มือถือดัง ก็พบว่าคุณ pen ส่ง sms เบอร์มือถือของ kids มาให้แล้ว เอาเป็นว่าคืนนั้นนอนตาหลับครับ

     แต่เวลาผ่านไปไม่นาน (ผมรู้สึกอย่างนั้น) ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า เอ๊ะ นี่มันกี่โมงแล้วนะ

     หยิบโทรศัพท์มาดู…

     05:15 น.!!!

     วินาทีนั้น ตัวกระเด้งจากที่นอนแบบจิงโจ้เรียกพี่ครับ เพราะปกติผมต้องตื่นตีสี่ อาบน้ำ แต่งตัว หาอะไรรองท้องนิดหน่อย และขับรถไปถึงออฟฟิสเวลา 05:00 น.

     แต่นี่ 05:15 น. ผมเพิ่งตื่น!!!

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกครับ คนที่ทำรายการเช้าคงต้องเคยเจอกับเหตุการณ์ตื่นสายกันมาบ้างแล้วแน่ๆ ผมรับประกัน และมันเป็นเรื่องที่น่าขนหัวลุกมากครับ สำหรับคนอื่นผมไม่ทราบ แต่สำหรับตัวเองจะรู้สึกไม่ค่อยดีหากเข้ารายการสาย

     ผมรีบอาบน้ำ แต่งตัว และออกจากบ้านแถวพระราม 3 ในทันที ของว่างและน้ำ ไม่ได้ลงถึงท้องเลยให้ตายเถอะ พร้อมกับบึ่งรถอย่างเร็ว…เร็วมากๆ และไม่ควรลอกเลียนแบบ อาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อจริงๆ (160 km/h) แต่สถานการณ์แบบนี้มันจำเป็นครับ

     ถึงออฟฟิสในเวลา 05:45 น.!!!

     และเมื่อไปถึงก็พบว่า ผมไม่ได้มาสายเพียงคนเดียว 555

     ผมรีบสั่งให้ น้องนิว co-producer โทรตามแขกที่จะเข้าสัมภาษณ์ในรายการทันที นั่นก็คือ kids นั่นเอง จากนั้นก็รีบนั่งลงอ่านข่าวอย่างด่วน ในเวลา 15 นาทีที่เหลือ โชคดีที่ผมอัพเดทข่าวมาแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวาน จึงอ่านเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อยก็พอจะทัน

     ในที่สุด เวลา 06:05 น. ผมและคุณ โต้ง-กวีพันธ์ ก็พร้อมหน้ากันในรายการ “ห้องข่าวรับอรุณ” พร้อมกับสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์กับ kids ในเวลา 06:35 น. ด้วยความช่วยเหลือของทุกฝ่ายจริงๆ ครับ

     ขอขอบพระคุณทุกท่านที่เอ่ยนาม

     มื่อช่วง 1-2 ปีก่อน ผมหยุดการเปิดวิทยุขณะขับรถ เพราะรู้สึกอยากอยู่เงียบๆ บ้าง แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมกลับมาเปิดวิทยุอีกครั้ง ส่วนใหญ่ก็ฟังเพลงครับ สถานีวิทยุที่ชอบฟังเมื่อครึ่งปีก่อน คือสถานี Met 107 เป็นสถานีเพลงแนวโมเดิร์นทั่วๆ ไป ฟังแล้วก็เพลินดี

     แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ผมเพิ่งจะค้นพบสถานีอีกแห่ง เปิดเพลงได้ถูกใจและดีเจก็เป็นชื่นชอบส่วนตัวด้วยเช่นกัน

     FM 99.5 MHz ครับ ส่วนชื่อสถานีอะไรไม่เคยจำ เพราะไม่เคยได้ยินเขาโปรโมทเหมือน Met 107 ที่ยิงสป็อตทุกช่วงเบรคจนชื่อติดหู

     แต่สิ่งที่ทำให้ผมติดสถานีแห่งนี้ก็เพราะเพลงที่เปิดเป็นเพลงยุค 70’s และ 80’s และคงไม่ต้องบอกว่าดีเจก็คงจะเติบโตมาในยุคนั้นเช่นเดียวกัน

     “พี่ซัน-มาโนช พุฒตาล” จัดช่วงเช้า ส่วน “น้าหมึก-วิโรจน์ ควันธรรม” จัดช่วงบ่าย

มาโนช พุฒตาล (ภาพจาก manager)     ผมติดสถานีนี้มากครับช่วงนี้ โดยเฉพาะพี่ซัน-มาโนช เพราะแกเป็นดีเจที่ “พูดมาก” ซึ่งไม่ใช่พูดมากแบบดีเจที่พูดนินทาดารา หรือเล่นเกมกับผู้ฟัง แต่พี่ซันเล่าเรื่องทั่วๆ ไปนี่แหละครับ วันไหนแกไปเจออะไรมาก็นำมาเล่า พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดที่ช่วยกระตุกสมองได้ไม่เลวทีเดียว

     วันก่อนพี่ซันพูดถึงศัพท์ Beautiful Mess ที่มาจากเพลงๆ หนึ่งที่เขาเปิด แล้วก็อธิบายว่าความวินาศสันตะโรเป็นความสวยงามอย่างหนึ่ง แต่นั่นมันแค่ในหนังหรือในจอทีวีเท่านั้น

     แต่สภาพความเป็นจริงไม่มีหรอกครับ ที่ตำรวจไล่ล่าคนร้ายด้วยรถยนต์ แล้วขับชนกันทั่วเมือง พร้อมกับยิงปืนถล่มกันจนบ้านเมืองเสียหาย พอกลับ สน.ก็ถูกสารวัตรด่านิดหน่อย และกลับไปทำงานต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     แล้วพี่ซันก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า เพียงแค่ไม่กี่วันก่อนที่เขาขับรถถอยหลังไปชนต้นไม้จนกระจกหลังรถแตก ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างคาดไม่ถึง พี่ซันต้องมานั่งคิดว่าจะเอาไปเข้าศูนย์ดีหรือซ่อมอู่ดี เพราะราคาต่างกันเยอะ แต่คุณภาพก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเช่นกัน

     เมื่อเลือกที่จะเข้าอู่แล้ว ก็ต้องตามไปสอบถามราคากันหลายเจ้า แต่ละเจ้าก็ราคาห่างกันเหลือเกิน และจะเที่ยวถามราคามากไปก็ไม่ได้ เพราะไม่งั้นจะไม่มีรถใช้ขับไปทำงาน จากนั้นก็ต้องติดต่อประกันเรื่องการเคลม

     ทีนี้ระหว่างที่ขับรถไปๆ มาๆ อยู่นั้น ฝนเกิดตกลงมาอีก ต้องรีบขับเข้าปั๊มน้ำมันหลบฝน หลังจากที่ฝนหยุดตก พี่แกก็ขับรถออกไปเปลี่ยนกระจกเสียที ฝนก็ดันตกลงมาอีก คราวนี้น้ำฝนเข้ารถจนพรมและเบาะเปียกชื้น เกิดกลิ่นเหม็นอับตามมา

     ไม่พอครับ เมื่อเข้าอู่ติดกระจกเสร็จ ปรากฎว่าเขาต้องขับรถเปิดกระจกไปอีก 2-3 วัน เพราะกลิ่นกาวติดกระจกมันแรงมากจนทนไม่ไหว

     พี่ซันบอกว่า นี่เพียงแค่กระจกหลังรถแตกเท่านั้น หากฉากในภาพยนตร์ที่ตำรวจไล่ล่าคนร้ายจนรถชนกันวินาศสันตะโร ความเดือดร้อนจะมากมายขนาดไหน ต้องลองคิดดู

     เช้าวันนี้ก็เช่นกัน พี่ซันพูดถึงนิทานที่เล่าให้ลูกสาวฟังก่อนนอนเมื่อคืน เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิ้งจกตัวหนึ่งที่เห็นจระเข้ในทีวี แล้วคิดว่าตัวเองคือจระเข้ เพราะจระเข้ในทีวีดูตัวเล็กกว่าความเป็นจริงมาก

     จระเข้ตัวนี้กำลังงาบวัวที่ข้ามลำห้วย ซึ่งดูน่าเกรงขามและทรงพลัง จิ้งจกตัวนี้จึงออกตามล่าวัวบ้าง แต่กลับพบว่าความจริงแล้วตัวเองตัวเล็กนิดเดียว และเกือบถูกวัวเหยียบตายด้วยซ้ำ

     พี่ซันบอกว่า ลูกสาวหลับไปแล้ว แต่ความคิดของเขายังไม่หยุดแค่นั้น เขากลับพบว่าเรื่องที่เขาเล่ากลับต่อยอดให้เห็นถึงอิทธิพลของทีวีที่มีแต่ผู้รับชม ไม่เว้นแม้กระทั่งจิ้งจกในนิทานของเขา

     แล้วเขาก็นำไปเปรียบเทียบกับรายการเล่าข่าวในสมัยนี้ ที่เปลี่ยนจากการรายงานข่าว มาเป็นการเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ พร้อมทั้งพิธีกรยังออกท่าทาง สีหน้า และความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่อีกด้วย

     พี่ซันยกตัวอย่างข่าวลูกนักการเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทืบตำรวจ หลังจากฝ่าด่านตรวจแอลกอฮอล์เมื่อคืนวาน รายการเล่าข่าวส่วนใหญ่ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือคนในข่าว ได้โทรศัพท์หรือเข้าร่วมรายการเพื่อชี้แจงแถลงไข

     ประเด็นก็คือผู้ที่ถูกเชิญเข้ารายการมักจะพูดปกป้องตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีใครมานั่งกล่าวหาตัวเองให้คนอื่นฟังอยู่แล้ว ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองฝ่ายจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่าตัวเองถูก

     ซึ่งนี่คือเรื่องธรรมชาติ ไม่ผิดแปลกอะไร แต่ที่แปลกสำหรับพี่ซันคือ พฤติกรรมของพิธีกร ที่มีการสอบถาม สัมภาษณ์ หรือซักประเด็น ไม่ต่างอะไรกับพนักงานสอบสวน อัยการ ทนายความ หรือผู้พิพากษาเลย

     เขาบอกว่าหน้าที่สืบสวนสอบสวนดังกล่าว ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีมากกว่า อย่างไรก็ตาม สื่อก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่การมาทำออกสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างทีวีแบบนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการโน้มน้าวความคิดมวลชนโดยไม่รู้ตัว

ภาพจาก sanook.com     และนั่นคืออันตราย เพราะสื่อที่เป็นกลางก็มีมาก แต่สื่อที่ไม่เป็นกลางก็มีไม่น้อย และโดยจิตวิทยาแล้ว คนไทยมักแพ้ความน่าสงสาร และมันจะมาพร้อมๆ กับความเห็นใจ ซึ่งนั่นอาจบิดเบือนรูปคดีได้ หากพนักงานสอบสวน ทนายความ อัยการ หรือใครก็ตามที่มีหน้าที่สืบหาความจริง ไม่มีความหนักแน่นพอหรือสามารถทัดทานได้ต่อกระแสของมวลชน

     นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมมานั่งนึกต่อว่า อะไรคือหลักประกันของความหมายที่สื่อออกมาจากทีวี ว่าจะไม่ทำให้เจตนาดีของสื่อมวลชนถูกแปรไปในทางที่หักเหไปจากเดิม

     “ไม่มี” น่าจะเป็นคำตอบที่คิดได้ตอนนี้

     แน่นอน เพราะเราไม่สามารถไปห้ามความคิดของใครได้ หากสื่อเพียงแค่รายงานข่าวและปล่อยให้ผู้รับสารไปคิดต่อเอาเอง นั่นยังพอแก้ต่างได้ว่า ความคิดต่อจากนั้นเป็นของประชาชนฝ่ายเดียว แต่หากสื่อที่ใส่อารมณ์และความเห็นเข้าไปด้วย คงตอบได้ไม่เต็มปากนักว่าสื่อไม่มีส่วนในการชักนำความคิดมวลชน

     ผมเป็นคนหนึ่งที่จัดรายการด้วยหลักคิดที่ว่า สื่อสามารถนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวลงไปได้ แน่นอนว่ามันขัดกับหลักของสื่อสารมวลชน แต่เหตุผลที่ผมทำเช่นนั้นก็เพราะผมถือว่าผมไม่ใช่ตัวหนังสือในหนังสือพิมพ์ ผมไม่ใช่หุ่นยนต์รายงานข่าว ผมมีสมอง จิตใจ และความรู้สึกนึกคิด

     สิ่งที่ผมรับรู้มา ได้ผ่านกระบวนการพินิจพิเคราะห์ การกลั่นกรอง และจิตสำนึกชั่วดีมาแล้ว ก่อนที่ข้อมูลและข่าวสารจะออกจากปากไป ซึ่งระบบกลั่นกรองของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผ่านสำนึกของผมและของคนอื่นๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามสมอง การศึกษา ประสบการณ์ จิตสำนึก ภูมิหลัง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

     นั่นก็หมายความว่า ปุถุชนทั่วไปจะมีการตอบสนองต่อทุกสิ่งแตกต่างกัน และสิ่งนั้นย่อมถูกเจือด้วยอคติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     หากคนๆ นั้นคิดว่าเรื่องหวยเป็นเรื่องปกติ เขาก็จะแสดงออกมาอย่างหนึ่ง แต่หากอีกคนคิดว่าเรื่องหวยเป็นเรื่องผิดบาป เขาก็จะแสดงออกมาอีกอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่าผู้ชมที่รับข้อมูลจากพิธีกรสองคนนี้ ย่อมรับรู้และถูกโน้มน้าวแตกต่างกันไป

     ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบัน เพราะยุคสมัยย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ในอนาคตเราอาจพบเห็นการนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ มากกว่าการใส่สีหน้า ออกอารมณ์ และพูดจาออกความคิดเห็นมากกว่านี้ก็เป็นได้ภาพจาก manager

     ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่การตรวจสอบจิตสำนึกของสื่อว่าเขาคิดเห็นต่อเรื่องๆ นั้นอย่างไรมากกว่า

     เพราะเรื่องที่ดี มันก็จะดีวันยังค่ำ เรื่องเลวมันก็เลวอยู่นั่นเอง เพราะนั่นเป็นข้อเท็จจริง เป็น fact แต่หากสื่อเห็นเรื่องเลวเป็นเรื่องดี นั่นคือปัญหาแล้ว

     คำถามคือ แล้วถ้าเรื่องไหนยังไม่สามารถรู้ได้ว่าความจริงเป็นเช่นไร อะไรคือดี และอะไรคือเลวล่ะ สื่อควรจะทำอย่างไร

     ผมคงไม่สามารถตอบแทนนักการสื่อสารมวลชนได้ แต่สามารถตอบบนพื้นฐานส่วนตัวได้ วิธีการก็คือสื่ออย่างผมจะไม่นำเสนอข่าวที่กระทบกับความรู้สึกของมวลชน ด้วยการทำให้ข่าวนั้นเหมือนละคร

     คนไทยชอบดูละครเป็นพื้นฐานครับ ชอบความเป็น drama ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดบาป แต่เราควรรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นสิ่งที่โน้มนาวใจคนดูได้มากกว่า คนไทยติดละครมากกว่าข่าว ดังนั้น หากทำให้ข่าวเหมือนละคร คนจะติดกันมากขึ้น

     เมื่อชีวิตจริงในข่าวถูกปั้นให้เหมือนละคร ดังสำนวนเปรียบเปรยว่า “ชีวิตคือละคร” นั่นก็ย่อมทำให้คนแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับความลวง และมันสุ่มเสี่ยงต่อการแปรเจตนาของข่าวอย่างผิดทิศผิดทางอย่างมากทีเดียว

     ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นลูกนักการเมืองกระทืบตำรวจ หรืออดีตผู้นำถูกกีดกันไม่ให้เข้าประเทศ จนต้องออกมาขอความเห็นใจผ่านเว็บไซต์ ก็ไม่ต่างกัน การนำเสนอข่าวที่ใส่อารมณ์ drama พร้อมกับสอดแทรกความเห็นใจ ผนวกความสงสาร เป็นเรื่องที่กระตุ้นต่อมความเอื้ออาทรของคนไทยได้เป็นอย่างดี

     เมื่อไรก็ตามที่คนดูใส่ใจในอารมณ์ของข่าว มากกว่าข้อมูลในข่าว นั่นคือความเสี่ยง เพราะอารมณ์สร้างได้ง่ายๆ ผู้กำกับหนัง ผู้กำกับละครเก่งๆ ทำได้ทุกคน ล็อบบี้ยิสต์ทำได้ทุกคน นักปราศรัยไล่มาจนถึงนักแสดง ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน แล้วนักแสดงที่ทำหน้าที่นักข่าวด้วยล่ะ ทำได้หรือไม่ หรือนักข่าวที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนรู้ว่าวิธีการไหนที่ดึงอารมณ์คนดูได้ล่ะ จะเป็นอย่างไร

     อย่างที่บอกแหละครับ จิตสำนึกของนักข่าวเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าวิธีการนำเสนอ

     จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวก็ได้ แต่อย่าใส่อารมณ์

Blog Visits

  • 158,839 hits