Suki Media

มาโนช จิ้งจก และรายการข่าว

Posted on: วันอังคาร, 22 พฤษภาคม, 2007

     มื่อช่วง 1-2 ปีก่อน ผมหยุดการเปิดวิทยุขณะขับรถ เพราะรู้สึกอยากอยู่เงียบๆ บ้าง แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมกลับมาเปิดวิทยุอีกครั้ง ส่วนใหญ่ก็ฟังเพลงครับ สถานีวิทยุที่ชอบฟังเมื่อครึ่งปีก่อน คือสถานี Met 107 เป็นสถานีเพลงแนวโมเดิร์นทั่วๆ ไป ฟังแล้วก็เพลินดี

     แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ผมเพิ่งจะค้นพบสถานีอีกแห่ง เปิดเพลงได้ถูกใจและดีเจก็เป็นชื่นชอบส่วนตัวด้วยเช่นกัน

     FM 99.5 MHz ครับ ส่วนชื่อสถานีอะไรไม่เคยจำ เพราะไม่เคยได้ยินเขาโปรโมทเหมือน Met 107 ที่ยิงสป็อตทุกช่วงเบรคจนชื่อติดหู

     แต่สิ่งที่ทำให้ผมติดสถานีแห่งนี้ก็เพราะเพลงที่เปิดเป็นเพลงยุค 70’s และ 80’s และคงไม่ต้องบอกว่าดีเจก็คงจะเติบโตมาในยุคนั้นเช่นเดียวกัน

     “พี่ซัน-มาโนช พุฒตาล” จัดช่วงเช้า ส่วน “น้าหมึก-วิโรจน์ ควันธรรม” จัดช่วงบ่าย

มาโนช พุฒตาล (ภาพจาก manager)     ผมติดสถานีนี้มากครับช่วงนี้ โดยเฉพาะพี่ซัน-มาโนช เพราะแกเป็นดีเจที่ “พูดมาก” ซึ่งไม่ใช่พูดมากแบบดีเจที่พูดนินทาดารา หรือเล่นเกมกับผู้ฟัง แต่พี่ซันเล่าเรื่องทั่วๆ ไปนี่แหละครับ วันไหนแกไปเจออะไรมาก็นำมาเล่า พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดที่ช่วยกระตุกสมองได้ไม่เลวทีเดียว

     วันก่อนพี่ซันพูดถึงศัพท์ Beautiful Mess ที่มาจากเพลงๆ หนึ่งที่เขาเปิด แล้วก็อธิบายว่าความวินาศสันตะโรเป็นความสวยงามอย่างหนึ่ง แต่นั่นมันแค่ในหนังหรือในจอทีวีเท่านั้น

     แต่สภาพความเป็นจริงไม่มีหรอกครับ ที่ตำรวจไล่ล่าคนร้ายด้วยรถยนต์ แล้วขับชนกันทั่วเมือง พร้อมกับยิงปืนถล่มกันจนบ้านเมืองเสียหาย พอกลับ สน.ก็ถูกสารวัตรด่านิดหน่อย และกลับไปทำงานต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     แล้วพี่ซันก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า เพียงแค่ไม่กี่วันก่อนที่เขาขับรถถอยหลังไปชนต้นไม้จนกระจกหลังรถแตก ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างคาดไม่ถึง พี่ซันต้องมานั่งคิดว่าจะเอาไปเข้าศูนย์ดีหรือซ่อมอู่ดี เพราะราคาต่างกันเยอะ แต่คุณภาพก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเช่นกัน

     เมื่อเลือกที่จะเข้าอู่แล้ว ก็ต้องตามไปสอบถามราคากันหลายเจ้า แต่ละเจ้าก็ราคาห่างกันเหลือเกิน และจะเที่ยวถามราคามากไปก็ไม่ได้ เพราะไม่งั้นจะไม่มีรถใช้ขับไปทำงาน จากนั้นก็ต้องติดต่อประกันเรื่องการเคลม

     ทีนี้ระหว่างที่ขับรถไปๆ มาๆ อยู่นั้น ฝนเกิดตกลงมาอีก ต้องรีบขับเข้าปั๊มน้ำมันหลบฝน หลังจากที่ฝนหยุดตก พี่แกก็ขับรถออกไปเปลี่ยนกระจกเสียที ฝนก็ดันตกลงมาอีก คราวนี้น้ำฝนเข้ารถจนพรมและเบาะเปียกชื้น เกิดกลิ่นเหม็นอับตามมา

     ไม่พอครับ เมื่อเข้าอู่ติดกระจกเสร็จ ปรากฎว่าเขาต้องขับรถเปิดกระจกไปอีก 2-3 วัน เพราะกลิ่นกาวติดกระจกมันแรงมากจนทนไม่ไหว

     พี่ซันบอกว่า นี่เพียงแค่กระจกหลังรถแตกเท่านั้น หากฉากในภาพยนตร์ที่ตำรวจไล่ล่าคนร้ายจนรถชนกันวินาศสันตะโร ความเดือดร้อนจะมากมายขนาดไหน ต้องลองคิดดู

     เช้าวันนี้ก็เช่นกัน พี่ซันพูดถึงนิทานที่เล่าให้ลูกสาวฟังก่อนนอนเมื่อคืน เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิ้งจกตัวหนึ่งที่เห็นจระเข้ในทีวี แล้วคิดว่าตัวเองคือจระเข้ เพราะจระเข้ในทีวีดูตัวเล็กกว่าความเป็นจริงมาก

     จระเข้ตัวนี้กำลังงาบวัวที่ข้ามลำห้วย ซึ่งดูน่าเกรงขามและทรงพลัง จิ้งจกตัวนี้จึงออกตามล่าวัวบ้าง แต่กลับพบว่าความจริงแล้วตัวเองตัวเล็กนิดเดียว และเกือบถูกวัวเหยียบตายด้วยซ้ำ

     พี่ซันบอกว่า ลูกสาวหลับไปแล้ว แต่ความคิดของเขายังไม่หยุดแค่นั้น เขากลับพบว่าเรื่องที่เขาเล่ากลับต่อยอดให้เห็นถึงอิทธิพลของทีวีที่มีแต่ผู้รับชม ไม่เว้นแม้กระทั่งจิ้งจกในนิทานของเขา

     แล้วเขาก็นำไปเปรียบเทียบกับรายการเล่าข่าวในสมัยนี้ ที่เปลี่ยนจากการรายงานข่าว มาเป็นการเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ พร้อมทั้งพิธีกรยังออกท่าทาง สีหน้า และความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่อีกด้วย

     พี่ซันยกตัวอย่างข่าวลูกนักการเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทืบตำรวจ หลังจากฝ่าด่านตรวจแอลกอฮอล์เมื่อคืนวาน รายการเล่าข่าวส่วนใหญ่ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือคนในข่าว ได้โทรศัพท์หรือเข้าร่วมรายการเพื่อชี้แจงแถลงไข

     ประเด็นก็คือผู้ที่ถูกเชิญเข้ารายการมักจะพูดปกป้องตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีใครมานั่งกล่าวหาตัวเองให้คนอื่นฟังอยู่แล้ว ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองฝ่ายจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่าตัวเองถูก

     ซึ่งนี่คือเรื่องธรรมชาติ ไม่ผิดแปลกอะไร แต่ที่แปลกสำหรับพี่ซันคือ พฤติกรรมของพิธีกร ที่มีการสอบถาม สัมภาษณ์ หรือซักประเด็น ไม่ต่างอะไรกับพนักงานสอบสวน อัยการ ทนายความ หรือผู้พิพากษาเลย

     เขาบอกว่าหน้าที่สืบสวนสอบสวนดังกล่าว ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีมากกว่า อย่างไรก็ตาม สื่อก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่การมาทำออกสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างทีวีแบบนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการโน้มน้าวความคิดมวลชนโดยไม่รู้ตัว

ภาพจาก sanook.com     และนั่นคืออันตราย เพราะสื่อที่เป็นกลางก็มีมาก แต่สื่อที่ไม่เป็นกลางก็มีไม่น้อย และโดยจิตวิทยาแล้ว คนไทยมักแพ้ความน่าสงสาร และมันจะมาพร้อมๆ กับความเห็นใจ ซึ่งนั่นอาจบิดเบือนรูปคดีได้ หากพนักงานสอบสวน ทนายความ อัยการ หรือใครก็ตามที่มีหน้าที่สืบหาความจริง ไม่มีความหนักแน่นพอหรือสามารถทัดทานได้ต่อกระแสของมวลชน

     นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมมานั่งนึกต่อว่า อะไรคือหลักประกันของความหมายที่สื่อออกมาจากทีวี ว่าจะไม่ทำให้เจตนาดีของสื่อมวลชนถูกแปรไปในทางที่หักเหไปจากเดิม

     “ไม่มี” น่าจะเป็นคำตอบที่คิดได้ตอนนี้

     แน่นอน เพราะเราไม่สามารถไปห้ามความคิดของใครได้ หากสื่อเพียงแค่รายงานข่าวและปล่อยให้ผู้รับสารไปคิดต่อเอาเอง นั่นยังพอแก้ต่างได้ว่า ความคิดต่อจากนั้นเป็นของประชาชนฝ่ายเดียว แต่หากสื่อที่ใส่อารมณ์และความเห็นเข้าไปด้วย คงตอบได้ไม่เต็มปากนักว่าสื่อไม่มีส่วนในการชักนำความคิดมวลชน

     ผมเป็นคนหนึ่งที่จัดรายการด้วยหลักคิดที่ว่า สื่อสามารถนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวลงไปได้ แน่นอนว่ามันขัดกับหลักของสื่อสารมวลชน แต่เหตุผลที่ผมทำเช่นนั้นก็เพราะผมถือว่าผมไม่ใช่ตัวหนังสือในหนังสือพิมพ์ ผมไม่ใช่หุ่นยนต์รายงานข่าว ผมมีสมอง จิตใจ และความรู้สึกนึกคิด

     สิ่งที่ผมรับรู้มา ได้ผ่านกระบวนการพินิจพิเคราะห์ การกลั่นกรอง และจิตสำนึกชั่วดีมาแล้ว ก่อนที่ข้อมูลและข่าวสารจะออกจากปากไป ซึ่งระบบกลั่นกรองของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผ่านสำนึกของผมและของคนอื่นๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามสมอง การศึกษา ประสบการณ์ จิตสำนึก ภูมิหลัง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

     นั่นก็หมายความว่า ปุถุชนทั่วไปจะมีการตอบสนองต่อทุกสิ่งแตกต่างกัน และสิ่งนั้นย่อมถูกเจือด้วยอคติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     หากคนๆ นั้นคิดว่าเรื่องหวยเป็นเรื่องปกติ เขาก็จะแสดงออกมาอย่างหนึ่ง แต่หากอีกคนคิดว่าเรื่องหวยเป็นเรื่องผิดบาป เขาก็จะแสดงออกมาอีกอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่าผู้ชมที่รับข้อมูลจากพิธีกรสองคนนี้ ย่อมรับรู้และถูกโน้มน้าวแตกต่างกันไป

     ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบัน เพราะยุคสมัยย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ในอนาคตเราอาจพบเห็นการนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ มากกว่าการใส่สีหน้า ออกอารมณ์ และพูดจาออกความคิดเห็นมากกว่านี้ก็เป็นได้ภาพจาก manager

     ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่การตรวจสอบจิตสำนึกของสื่อว่าเขาคิดเห็นต่อเรื่องๆ นั้นอย่างไรมากกว่า

     เพราะเรื่องที่ดี มันก็จะดีวันยังค่ำ เรื่องเลวมันก็เลวอยู่นั่นเอง เพราะนั่นเป็นข้อเท็จจริง เป็น fact แต่หากสื่อเห็นเรื่องเลวเป็นเรื่องดี นั่นคือปัญหาแล้ว

     คำถามคือ แล้วถ้าเรื่องไหนยังไม่สามารถรู้ได้ว่าความจริงเป็นเช่นไร อะไรคือดี และอะไรคือเลวล่ะ สื่อควรจะทำอย่างไร

     ผมคงไม่สามารถตอบแทนนักการสื่อสารมวลชนได้ แต่สามารถตอบบนพื้นฐานส่วนตัวได้ วิธีการก็คือสื่ออย่างผมจะไม่นำเสนอข่าวที่กระทบกับความรู้สึกของมวลชน ด้วยการทำให้ข่าวนั้นเหมือนละคร

     คนไทยชอบดูละครเป็นพื้นฐานครับ ชอบความเป็น drama ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดบาป แต่เราควรรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นสิ่งที่โน้มนาวใจคนดูได้มากกว่า คนไทยติดละครมากกว่าข่าว ดังนั้น หากทำให้ข่าวเหมือนละคร คนจะติดกันมากขึ้น

     เมื่อชีวิตจริงในข่าวถูกปั้นให้เหมือนละคร ดังสำนวนเปรียบเปรยว่า “ชีวิตคือละคร” นั่นก็ย่อมทำให้คนแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับความลวง และมันสุ่มเสี่ยงต่อการแปรเจตนาของข่าวอย่างผิดทิศผิดทางอย่างมากทีเดียว

     ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นลูกนักการเมืองกระทืบตำรวจ หรืออดีตผู้นำถูกกีดกันไม่ให้เข้าประเทศ จนต้องออกมาขอความเห็นใจผ่านเว็บไซต์ ก็ไม่ต่างกัน การนำเสนอข่าวที่ใส่อารมณ์ drama พร้อมกับสอดแทรกความเห็นใจ ผนวกความสงสาร เป็นเรื่องที่กระตุ้นต่อมความเอื้ออาทรของคนไทยได้เป็นอย่างดี

     เมื่อไรก็ตามที่คนดูใส่ใจในอารมณ์ของข่าว มากกว่าข้อมูลในข่าว นั่นคือความเสี่ยง เพราะอารมณ์สร้างได้ง่ายๆ ผู้กำกับหนัง ผู้กำกับละครเก่งๆ ทำได้ทุกคน ล็อบบี้ยิสต์ทำได้ทุกคน นักปราศรัยไล่มาจนถึงนักแสดง ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน แล้วนักแสดงที่ทำหน้าที่นักข่าวด้วยล่ะ ทำได้หรือไม่ หรือนักข่าวที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนรู้ว่าวิธีการไหนที่ดึงอารมณ์คนดูได้ล่ะ จะเป็นอย่างไร

     อย่างที่บอกแหละครับ จิตสำนึกของนักข่าวเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าวิธีการนำเสนอ

     จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวก็ได้ แต่อย่าใส่อารมณ์

3 Responses to "มาโนช จิ้งจก และรายการข่าว"

When I was young I liked him too. Especially, when he introduced the new music. Nowadays, I don’t know him very much.

In general, News station should present the TRUE. It doesn’t matter if it is neutral or unbalance. The problem is……. sometime we don’t know if it’s TRUE 55555. Thais don’t like to discuss to finding the TRUE, instead we judged who is wrong.

I still like an aggressive news reporter. Because s/he always wants to squeeze out the TRUE from politicians or policemen. Sometime the Thai reporters don’t ask a further question. They just finish reporting the news (like stupid topic).

ตอนเรียน หนังสือบอกว่า
การรายงานข่าว คือ การนำเสนอข้อเท็จจริง 5w1h (who,what,where.when,why and how)
ตอนทำข่าว บก.บอกว่า
ไปตามคนนี้ หมายนี้ ประเด็นนี้…ลองไปแหย่คำถามนี้
ทำข่าวไปได้สักพัก ได้ยินเพื่อนนักข่าวพูดว่า
ไม่มีความเป็นกลางหรอก ลึกๆแล้วในใจเราเลือกข้างไปแล้วว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนเลว จากข้อมูลและสิ่งที่เห็น ฉะนั้นอย่ามาถามหาความเป็นกลาง ถึงเราไม่เลือก บก.เค้าก็เป็นคนเลือก
เกี่ยวหรือเปล่าไม่รู้นะ เล่าให้ฟังเฉยๆ
เราว่านะ ข่าวไม่มีวันเป็นละครไปได้หรอก
อย่าไปดูถูกคนดู เค้าดูออกว่าอันไหนข่าว อันไหนละคร
เพราะคนอ่านข่าวยังไง ก็หล่อสู้พระเอกไม่ได้
ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ผู้ประกาศข่าวส่วนใหญ่ มักเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ ยิ่งหากคนใดผ่านการ “ปั้น” ให้โด่งดังเป็นที่รู้จักด้วยแล้ว ชาวบ้านร้านตลาดมักให้ความนับหน้าถือตา ชื่นชมชื่นชอบ เสมือนผู้ประกาศข่าวคนนั้นเป็นดาราในดวงใจคนหนึ่ง..

พายมีความเห็นว่า…
โดยพื้นฐานแล้ว คนส่วนใหญ่มักเชื่อในสิ่งที่ตรงกับความคิดเห็น และประสบการณ์ของตัวเองอยู่แล้ว
คำว่า “ใช้วิจารณญาณ” ของแต่และคนจึงต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นคนดูเอง ก็อาจไม่ได้เชื่อความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ประกาศบางคน แต่สำหรับบางคนก็อาจมีส่วนไม่น้อย หากเป็นคนที่ตนเองชอบแนวความคิดของเขาอยู่แล้ว (ซึ่งอาจชอบเพราะ ผู้ประกาศคนนั้นมีแนวความคิดคล้ายตัวเองอยู่แล้วก็ได้)

ถ้าจะให้กระบวนการผลิตและบริโภคสื่อ มีคุณภาพและคุณธรรมมากที่สุด
ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ “คน” นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นคนผลิตข่าว หรือคนดู จริงมั้ยคะ.. ฉะนั้น พายจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า อยู่ที่การพัฒนาและส่งเสริมคนดี (มีคุณธรรมในจิตใจ) ให้ได้รับหน้าที่สำคัญ มาก่อนความเก่งนะคะ ความเก่งฝึกฝนได้ คุณธรรมในใจฝึกได้แต่ยากกว่าค่ะ

ปล. ฟังดูเหมือนพูดเรื่องการเมือง.. แต่ปล่าวจริงๆ น้าาาา พูดถึงเรื่องนี้อย่างเดียว -_*

ส่งความเห็นที่ alwayslek ยกเลิกการตอบ

Blog Visits

  • 158,822 hits